วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เทพเจ้ากรีก



เทพโอลิมปัส
เทพโอลิมปัส (The Olympians, Major gods) เป็นเทพที่อาศัยบนยอดเขาโอลิมปัส (Olympus) มีทั้งหมด 12 องค์ แต่ถ้านับอย่างถี่ถ้วนจะมีทั้งสิ้น 16 องค์ ดังนี้
1. ซุส (Zeus) (ซีอุส/จูปิเตอร์)เป็นราชาของบรรดาเทพเจ้าทั้งหลายและเหล่ามนุษย์บนโลก ซุสมีอาวุธเป็น Thunderbolt (อัศนีบาต) เทพซุสมีพี่น้องซึ่งเป็นเทพปกครองโลกร่วมกัน 5 องค์ ได้แก่ เทพโพไซดอน เทพีดีมิเทอร์ เทพีเฮร่า เทพฮาเดส และเทพีเฮสเทีย
2. โพไซดอน (Poseidon) เทพเจ้าแห่งท้องทะเล สัญลักษณ์ของพระองค์คือ สามง่ามหรือ ตรีศูลเทพผู้เขย่าพื้นพิภพ ผู้บัลดาลให้เกิดพายุ บิดาแห่งม้า
3. ดิมิเทอร์ (Demeter) เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรรม การเก็บเกี่ยว
4. เฮรา (Hera) ราชินีแห่งสวรรค์ เป็นทั้งพี่สาวของซุสและเป็นภรรยาด้วย เฮร่าเป็นเทพีแห่งการให้กำเนิดทารก การสมรส สตรี การสมรสสัตว์ประจำพระองค์คือนกยูง
5. เฮสเทีย (Hestia) เทพีพรมจรรย์แห่งการครองเรือน เทพแห่งครอบครัว ในฐานะของเทพีผู้รักษาบ้าน พระนางเป็นผู้ที่สร้างบ้านขึ้นเป็นคนแรก วิหารของพระนางอยู่ที่กรุงโรม ซึ่งจะได้รับการบวงสรวงจากสาวพรหมจารี พระนางมีสัญลักษณ์เป็นไฟนิรันดร
6. แอรีส (Ares) เทพแห่งสงคราม บุตรของ ซูส กับ เฮร่า สัตว์ประจำพระองค์คือเหยี่ยวและสุนัขมังกรไฟ (บางตำราว่าเป็นนกแร้ง) เทพองค์นี้มีเทพที่เป็นน้องสาว ชื่อว่า อีริส เธอคือเทพีแห่งการวิวาท
7. อะพอลโล (Apollo) เทพเจ้าแห่งการทำนาย กีฬา การรักษาโรคภัย การดนตรี และ เป็นเทพแห่งพระอาทิตย์ เป็นบุตรแห่ง ซีอุส และ เทพีเลโต (Leto) มีน้องสาวฝาแฝดชื่อ อาร์เทมิส (Artemis) อะพอลโล่มีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์คือ ต้นลอเรล Laurel สัตว์ศักดิ์สิทธิ์คือนกกาเหว่าและห่าน เครื่องดนตรีประจำพระองค์คือพิณ วิหารศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์อยู่ที่เดลฟี่ Delphi ซึ่งที่นั่นจะมีนักบวชคอยบอกคำทำนายของพระองค์ให้แก่ประชาชนที่มาสักการบูชา
8. อาร์เทมีส (Artemis) เทพีแห่งดวงจันทร์และการล่าสัตว์ เป็นบุตรีของซูสและ เทพีเลโต เป็นน้องสาวแฝดของอะพอลโล่ พระองค์เป็นเทพีพรหมจรรย์องค์หนึ่งใน 3 องค์ ภาพที่ผู้คนเห็นอยู่เสมอๆ คือพระองค์จะถือธนูและศร มีสุนัขติดตาม สวมกระโปรงสั้น บางครั้งอาจเห็นเธออยู่บนรถศึกเทียมด้วยกวางขาว
9. เฮอร์มีส (Hermes) เทพแห่งการค้า การโจรกรรม และผู้ส่งสารของเหล่าทวยเทพ เป็นบุตรของ ซูส กับ เทพธิดาไมอา เทพไททัน พระองค์มักจะปรากฏกายในลักษณะสวมหมวกขอบกว้าง สวมรองเท้ามีปีก ถือคทาที่มีงูพัน ชื่อ คะดูเซียสซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการแพทย์
10. อาธีน่า (Athena)(อาเธน่า) หรืออีกนามหนึ่ง มิเนอร์วา Minerva เทพีแห่งความเฉลียวฉลาด และศิลปศาสตร์ทุกแขนงของกรีกรวมถึงศิลปะการต่อสู้ด้วย ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์คือต้นมะกอก
เทพีอธีน่า เป็นผู้ที่มอบมะกอกให้กับมนุษย์เป็นองค์แรก ทำให้เมือง Athens ได้ใช้ชื่อของพระองค์เป็นชื่อเมืองเพื่อเป็นเกียรติ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของเธอได้แก่ นกฮูก
11. อะโฟรไดต์ (Aphrodite) เทพีแห่งความรักและความงาม เป็นบุตรีของ ซูส กับ เทพีไดโอนี่ (บางตำราว่าเกิดจากฟองคลื่น) สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของเธอได้แก่นกกระจอก นกนางแอ่น ห่าน และเต่า ส่วนดอกไม้และผลไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระนางได้แก่กุหลาบ Myrtle และแอปเปิล กล่าวกันว่าพระนางเป็นเทพีผู้คุ้มครองเหล่าโสเภณีด้วย นางได้สมรสกับเฮเฟสทัส เทพแห่งการช่างที่ทีรูปร่างอัปลักษณ์ จึงได้มีสัมพันธ์ชู้สาวกับแอเรส หรือมาร์ส เทพแห่งสงคราม ต่อมาได้มีบุตรชื่อคิวปิด(อิรอส)เทพแห่งความรัก และบุตรคนเล็ก แอนติรอส เทพผู้บันดานให้เกิดความรักตอบ
12. เฮเฟสตัส (Hephaestus) เทพแห่งไฟ โลหะ และการช่าง เป็นบุตรของ ซูส กับ เฮร่า (บางตำราว่าเป็นบุตรของ Hera ผู้เดียว) พระองค์เป็นเทพที่พิการและอัปลักษณ์
13. ไดโอนีซุส (Dionysus) เทพแห่งไวน์ การทำไวน์ และการเก็บเกี่ยวผลไม้ และยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพแห่งละครอีกด้วย
14. เพอร์ซิโฟเน ธิดาของเทพีดีมิเทอร์ซึ่งถูกฮาเดสจับตัวไปเป็นภรรยาได้รับอนุญาตให้กลับขึ้นนมาบนโลกได้ปีละไม่กี่ครั้ง และการกลับขึ้นมาแต่ละครั้งก็คือการเปลี่ยนฤดูนั่นเอง
15. อีรอส (Eros) กามเทพ รู้จักกันดีในภาษาโรมันว่า คิวปิด Cupid เป็นบุตรแห่งเทพีความรัก อะโฟร์ไดต์และ เทพการศึกสงคราม แอเรส
16. เฮเดส (Hades) หรือฮาเดส (อีกนามหนึ่งคือ เฮดีส Hedes) ชื่อในภาษาโรมัน'พลูโต' เทพแห่งใต้พิภพยมโลก และเป็นเทพดูแลอัญมณีใต้ดิน ชาวกรีกบูชาพระองค์ก่อนเสมอที่จะลงมือทำเหมืองแร่
ปัจจุบันได้จัดให้มีแค่ 12 องค์ เพราะ ตามตำราบางเล่มบอกไว้ว่าเทพรุ่นที่ 3 มีแค่ 12 องค์



เทพซุส ราชาแห่งทวยเทพ

เทพซูส (อังกฤษ: Zeus, /zus/) เป็นราชาแห่งทวยเทพ ผู้ปกครองเขาโอลิมปัส (Olympus) และเทพแห่งท้องฟ้าและฟ้าร้องของตำนานเทพปกรณัมกรีก สัญลักษณ์ประจำพระองค์คือสายฟ้า โคเพศผู้ นกอินทรี และต้นโอ๊ก นามของซีอุสแปลว่าความสว่างของท้องฟ้า
นามของพระองค์ในตำนานเทพปกรณัมโรมันคือเทพจูปิเตอร์ (Jupiter) และนามในตำนานอีทรูสแคนคือเทพไทเนีย (Tinia)
พระองค์เป็นพระโอรสองค์สุดท้องของโครนัส (Cronus) และรีอา (Rhea) ซึ่งเป็นเทพไททัน ในหลายๆ ตำนานกล่าวว่าพระองค์ได้สมรสกับเทพีเฮร่า (Hera) แต่ก็มีสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองดอโดน่า (Dodona) ที่อ้างว่าคู่สมรสของเทพซูสแท้จริงแล้วคือเทพีไดโอนี (Dione) นอกจากนี้มหากาพย์อีเลียด (Illiad) ยังกล่าวไว้ว่าเทพซูสเป็นพระบิดาของเทพีอโฟรไดต์ (Aphrodite) ที่กำเนิดจากเทพีไดโอเน่อีกด้วย เทพซูสมักมีชื่อเสียงในพฤติกรรมนอกลู่นอกทางเรื่องชู้สาวของพระองค์ ซึ่งยังรวมไปถึงความสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มนามแกนีมีด (Ganymede) ด้วยเช่นกัน พฤติกรรมของพระองค์ทำให้เกิดผู้สืบเชื้อสายอยู่หลายองค์และหลายคนด้วยกัน อาทิเช่น เทพีอาธีน่า(Athena) เทพอพอลโล (Apollo) และเทพีอาร์ทีมิส (Artemis) เทพเฮอร์มีส (Hermes) เทพีเพอร์ซิโฟเน่(Persephone) เทพไดโอไนซัส (Dionysus) วีรบุรุษเพอร์ซีอุส (Perseus) วีรบุรุษเฮอร์คิวลีส (Hercules) เฮเลนแห่งทรอย (Helen) กษัตริย์ไมนอส (Minos) และเหล่าเทพีมิวเซส (Muses) ส่วนผู้สืบเชื้อสายที่เกิดจากเทพีเฮร่าโดยตรงได้แก่เทพเอรีส (Ares) เทพีเฮบี (Hebe) และเทพเฮฟเฟสตุส (Hephaestus) เทพีเอริส (Eris) และ เทพีไอไลธีเอีย (Eileithyia)
กำเนิดของซูส
ตำนานการถือกำเนิดของเทพซูสมีอยู่ว่า เทพีไกอาเทพมารดาแห่งผืนดิน ได้สมรสกับเทพยูเรนัสเทพแห่งท้องฟ้า และมีบุตรกลุ่มแรกคือ เหล่าเทพไททันซึ่งสร้างความภาคภูมิแก่เทพยูเรนัสมาก แต่ทว่าบุตรต่อๆมาของเทพีไกอากลับอัปลักษณ์และน่ากลัว เช่น ยักษ์ไซคลอปส์ที่มีตาข้างเดียวกลางใบหน้า และอสุรกายน่าเกลียดต่างๆ ทำให้เทพยูเรนัสพิโรธโยนบุตรเหล่านั้นลงไปขังในคุกทาร์ทะรัสใต้พิภพ
เทพีไกอาแค้นเทพยูเรนัสมากจึงยุยงให้เหล่าเทพไททันก่อกบฏ ไม่มีเทพองค์ใดที่กล้าชิงบัลลังก์พระบิดายกเว้นเทพโครนัส และจากการช่วยเหลือจากเทพีไกอาทำให้เทพโครนัสชิงอำนาจได้สำเร็จ ทว่าเทพโครนัสไม่ได้ทำตามสัญญาที่จะปลดปล่อยอสูรผู้เป็นน้อง เทพีไกอาจึงสาปแช่งว่าบุตรที่จะเกิดมาของโครนัสจะชิงอำนาจไปเหมือนกับที่บิดาเคยทำ
เทพโครนัสตระหนักมากเพราะหลังจากนั้นไม่นาน เทพีรีอา พระชายาก็ตั้งครรภ์ เมื่อได้ข่าวการประสูติ เทพโครนัสจึงบุกเข้าไปในตำหนักพระชายาและจับทารกผู้เป็นสายเลือดของตนกลืนลงท้องไป และครรภ์ต่อๆมาของเทพีรีอาก็เช่นกัน ส่งผลให้เทพีรีอาเศร้าเสียใจอย่างมาก
โครนัสให้กำเนิดบุตรและธิดารวมหกองค์ คือ เฮสเทีย เฮดีส ดีมิเตอร์ โพไซดอน เฮรา ซูส ซึ่งพอกำเนิดมาได้ถูกโครนัสจับกลืนลงท้องไปแต่เนื่องด้วยซูสหนีออกมาได้ จึงรอให้ตัวเองโตแล้วกลับมาช่วยอีก 6 องค์ในภายหลัง เนื่องจาก เฮสเทีย เฮดีส ดีมิเตอร์ โพไซดอน และเฮรา เป็นเทพจึงไม่ตายตอนอยู่ในท้องของโครนัส
การโค่นอำนาจไททันโครนัส
ความคับแค้นใจทำให้เทพีรีอาตัดสินใจเก็บบุตรคนสุดท้องเอาไว้ โดยแสร้งส่งก้อนหินห่อผ้าให้เทพโครนัสไป ทารกซูสถูกเลี้ยงดูอย่างดีโดยเทพีไกอาผู้เป็นย่าได้นำทารกซีอุสไปซ่อนไว้ในหุบเขาดิกเทอ ในเกาะครีต ซีอุสกินอาหารคือน้ำผึ้งและน้ำนมจากนิมฟ์ครึ่งแพะที่ชื่อว่า อะมาลไธอา ซึ่งในภายหลังซีอุสได้ได้สร้างนางให้เป็นกลุ่มดาวแพะ หรือกลุ่มดาวมกรในจักรราศีและมีครึ่งเทพครึ่งแพะแห่งป่าที่เล่นฟลุทอยู่ตลอดเวลาชื่อแพนเป็นผู้ให้การศึกษา เมื่อซีอุสเติบใหญ่แข็งแรงจึงหวนกลับไปแก้แค้นโครนอสผู้เป็นเทพบิดาตามคำร้องขอของเทพีมารดา
รีอาได้หลอกให้โครนอสกินยาที่จะทำให้สำรอกบุตรที่เคยกลืนออกมา ด้วยความเป็นเทพเจ้าทำให้เหล่าเทพที่ถูกกลืนลงไปไม่ตายซ้ำยังเติบโตขึ้น เรียงลำดับได้ดังนี้
1.เทพีเฮสเทีย หรือ เวสตา เทพีแห่งไฟและเทพีผู้คุ้มครองครอบครัว เป็นเทพีครองพรหมจรรย์
2.เทพี ดีมิเตอร์ หรือ เซเรสเทพีแห่งพันธุ์พืช ธัญญาหารและการเพาะปลูก มีธิดากับเทพซูสหนึ่งองค์คือ เทพีเพอร์ซิโฟเน หรือ โพรเซอพิน่าผู้เป็นชายาของฮาเดส
3.เทพี เฮราหรือ จูโนเทพีแห่งการสมรส เป็นมเหสีของเทพซูส ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องหึงหวง มีโอรสและธิดากับเทพซูส 3 องค์คือ เฮฟเฟสตุส ฮีบีกับ อาเรส
4.เทพเฮดีสหรือ พลูโต จ้าวแห่งดินแดนใต้พื้นพิภพ เป็นผู้ปกครองพิภพบาดาลและโลกคนตาย มีเทพีเพอร์ซิโฟเนหรือ โพรเซอร์พิน่าเทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิผู้เป็นธิดาของเทพีเซเรสเป็นมเหสี
5.เทพโพไซดอนหรือ เนปจูน จ้าวแห่งท้องทะเล ปกครองน่านน้ำเมดิเตอร์เรเนียนและน้ำที่ใช้ประโยชน์ได้ มีเทพีแอมฟิไทรท์ หรือ อัมฟิตรีติ เป็นมเหสี
เมื่อเทพทั้งห้าได้ออกมาจากท้องของโครนัสแล้วจึงร่วมกับซูสปราบโครนัสและส่งโครนัสไปขังไว้ที่ทาร์ทะรัส
ซูสได้รับตำแหน่งเทพผู้นำของเหล่าเทพ เนื่องจากการจับฉลากแบ่งหน้าที่ของทั้งสามพี่น้อง และได้พาเหล่าเทพทั้งหลายขึ้นไปอาศัยอยู่บนเทือกเขาโอลิมปัส
แม้ว่าเหล่าเทพทุกองค์จะยอมยกตำแหน่งผู้นำให้กับซูสในทีแรก แต่ในตอนหลังเหล่าเทพต่างๆก็ต่างพากันหาหนทางในการยึดอำนาจมาเป็นของตนเองอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฮราผู้เป็นชายาของซูส ได้พยายามที่จะรวบรวมเหล่าเทพเพื่อก่อการกบฏอยู่เสมอ แต่ในท้ายที่สุดซูสก็สามารถที่แก้ไขปัญหา และจับตัวนางมาลงโทษได้อยู่เสมอ
ชายาและบุตรของซูส
ชายาที่เป็นเทพ
ชายา
บุตร/ธิดา
มอยรี หรือ เฟต
ชายาที่เป็นมนุษย์/นิมฟ์/และอื่นๆ
มารดาที่ไม่รู้จัก
ลิทาอี







เทพโพไซดอนเทพแห่งท้องทะเล



โพไซดอน หรือ โพเซดอน (Poseidon) หรื โปเซดอน เป็นชื่อเรียกเทพเจ้าตามชาวกรีก แต่สำหรับชาวโรมัน ซึ่งรับเอาวัฒนธรรมของกรีกมาอีกทอดหนึ่งจะเรียกว่า เนปจูน ตามภาษาละติน
โพไซดอน เป็นผู้คุ้มครอง ท้องทะเลและห้วงน้ำ (The ruler of the sea) เป็นพระอนุชาของเทพซุส หรือ จูปิเตอร์ตามภาษาละติน เทพที่มีอำนาจสูงสุดในบรรดาเทพเจ้ากรีก-โรมันทั้งหมด ส่วนพระชายาของพระองค์ คือ เทพีอัมฟิไทรต์ ซึ่งก็เป็นเทพี แห่งท้องทะเล เช่นกัน

 โพไซดอน เป็น เทพเจ้าแห่งท้องทะเล และมหาสมุทร เป็น ผู้ปกครองดินแดน แห่งท้องน้ำ ตั้งแต่แหล่งน้ำจืด เช่น แม่น้ำ ลำคลอง จนถึงใต้บาดาล มีอาวุธคือสามง่าม บางตำนานกล่าวว่า มีท่อนล่างเป็นปลา นอกจากนี้แล้วยังถือว่าเป็นเทพแห่งแผ่นดินไหว และเป็นเทพแห่งม้าอีกด้วย
 ตามตำนานเล่าว่า โพเซดอนเป็นบุตรของโครโนสกับเร มีพี่น้องอีก 4 องค์ ซึ่งล้วนแต่เป็นเทพ แห่งโอลิมปัสทั้งสิ้น ได้แก่

   
  1. ซุส ผู้เป็นใหญ่ในสภาเทพแห่งโอลิมปัส
   
  1. ฮาเดส ผู้ครอบครองยมโลก
   
  1. เฮรา ชายาแห่งเทพซุส
   
  1. เฮสเตีย เทพีแห่งเตาผิง
รูปลักษณ์ของโพเซดอน ส่วนมากจะปรากฏเป็นชายวัยกลางคน รูปร่างกำยำล่ำสัน มีหนวดเครา ถือสามง่ามเป็นอาวุธ ซึ่งสามง่ามนี้มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถดลบันดาลให้เกิดคลื่นลมแรงในทะเล หรือแผ่นดินไหวได้ ครั้งหนึ่งโพเซดอน เคยคิดที่จะโค่นอำนาจของซุส โดยร่วมมือกับเฮราและอะธีนา แต่ไม่สำเร็จจึงถูกซุสลงโทษ โดยการให้ไปสร้างกำแพงเมือง ทรอย ร่วมกับเทพอพอลโล

 โพเซดอนมีมเหสีองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นหญิงรับใช้ของเทพีอะธีนา คือ เมดูซ่า ซึ่งในตอนแรกนั้นยังไม่ถูกสาบให้มีผมเป็นงู เพิ่งจะเป็นเช่นนั้นเมื่อเทพีอะธีนาทราบเรื่องว่าหญิงรับใช้ของตน ไปเป็นมเหสีของโพเซดอน จึงสาบเมดูซ่าให้เป็นปีศาจที่มีผมเป็นงู และเมื่อมองใครก็จะกลายเป็นหินไปหมด ในคราวที่เปอร์ซิอุสปราบเมดูซ่านั้น เปอร์ซิอุสได้ตัดศีรษะของเมดูซ่าแล้วเลือดของเมดูซ่า ที่กระเซ็นออกมา กลายเป็นม้าบินสองตัว คือ เพกาซัส (Pegasus) และ คริสซาออร์ (Chrysaor) ดังนั้นจึงถือว่า ทั้ง เพกาซัส และ คริสซาออร์ เป็นลูกของโพเซดอนด้วย
 โพเซดอน มีพาหนะเป็นม้าน้ำเทียมรถ ที่มีส่วนบนเป็นม้า และท่อนล่างเป็นปลา ซึ่งบางครั้ง จะพบรูปโพเซดอน อยู่บนรถเทียมม้าน้ำนี้ขึ้นมาจากทะเล
 โพไซดอน เป็นเทพเจ้าที่หงุดหงิด และโมโหง่าย ดวงตาสีฟ้าดุดัน มองผ่านทะลุ ม่านหมอกได้ และผมสีน้ำทะเลสยายลงมาเบื้องหลัง โดยได้รับสมญาว่า ผู้เขย่าโลกเนื่องจากเมื่อปักตรีศูลหรือสามง่ามลงบนพื้นดิน โลกก็จะเกิดการสั่นสะเทือน และแผ่นดินแยกออกจากกัน เมื่อฟาดสามง่ามลงบนทะเล ก็จะบังเกิดคลื่นลูกใหญ่เท่าภูเขา และ เกิดพายุ มีเสียง ครึกโครมน่ากลัว ทำให้เรืออับปางลง และผู้คนที่อาศัยอยู่ชายทะเลจมน้ำ แต่เมื่อยามโพไซดอน อารมณ์ดี ทรงยื่นพระหัตถ์ออกไป ทำให้ทะเลสงบและทรงยกแผ่นดินใหม่ขึ้นมาจากน้ำ

ในสมัยที่โครนัส และเทพไททัน เป็นใหญ่อยู่นั้น เนรูส เป็นผู้ครอบครองทะเล เนรูสเป็นโอรสของ แม่พระธรณี กับ พอนทัส หรือทะเล ซึ่งเป็นสวามีองค์ที่สอง เนรูสเป็นเทพเจ้าผู้ชราแห่งทะเล มีหนวดสีเทายาว มีหางเป็นปลา และ มีธิดาเป็นนางพรายน้ำห้าสิบนาง คือ เนรีด ผู้น่ารัก เมื่อโพไซดอน ได้รับมอบหมายให้มาเป็นเจ้าแห่งทะเลแทน เนรูส ผู้ชราที่มีน้ำพระทัยดี ก็ทรงยกธิดานามว่า อัมฟิไทรต์ ให้เป็นมเหสีของโพไซดอน แล้วเธอเองก็ปลีกตัวไปประทับอย่างสงบในถ้ำใต้บาดาล เนรูสทรงยกปราสาทใต้ทะเลให้แก่พระราชา และพระราชินีองค์ใหม่ด้วยปราสาททองคำ ซึ่งตั้งอยู่ในสวนหินปะการังและไข่มุก อัมฟิไทรต์ประทับที่ปราสาทแห่งนี้อย่างมีความสุข พร้อมกันนั้นยังห้อมล้อมด้วยนางพรายน้ำพี่น้องอีกสี่สิบเก้านาง นางมีโอรสองค์เดียว นามว่า ไทรทัน ซึ่งมีหางเป็นหางปลา เหมือนเนรูสผู้เป็นพ่อ ทรงขี่หลังสัตว์ทะเล และทรงเป่าสังข์ท่องเที่ยวไปในทะเล

 โพไซดอนไม่ค่อยประทับอยู่ที่ปราสาท เพราะไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ ทรงโปรดขับรถเทียมม้าสีขาวเหมือนหิมะแข่งกับลูกคลื่น กล่าวกันว่า โพไซดอน เนรมิตม้ามาจากรูปของคลื่นที่แตกกระจาย โพไซดอนทรงมีชายา และโอรสธิดามากมาย เหมือนซุส แต่ต่างกันตรงที่อัมฟิไทรต์ไม่ทรงหึงหวงเหมือนเฮรา

มีเกาะแห่งหนึ่งที่โพไซดอนทรงยกขึ้นมาสูงกว่าระดับน้ำทะเลชื่อว่า เกาะดีลอส เกาะนี้เพิ่งสร้างขึ้น จึงยังคงลอยไปมา อยู่ในน้ำ เกาะเล็ก ๆ นี้พื้นดินยังไม่อุดมสมบูรณ์ ยังไม่มีพืชพรรณอื่นใด นอกจากต้นปาล์มต้นเดียวเท่านั้น ในร่มเงา ของต้นปาล์มนี้ เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สององค์ คือ อะพอลโล กับ อาร์ทีมิส ได้ถือกำเนิดขึ้นมาดังเรื่องเล่าดังต่อไปนี้

 "ซุสได้อภิเษกกับเทพธิดา ลีโท พอเฮราทรงทราบว่าลีโททรงครรภ์แฝด ก็ทรงกริ้วมาก และรับสั่งห้ามมิให้พื้นดิน ทุกแห่งในโลกให้ที่พำนักแก่นาง ลีโทจึงต้องซัดเซพเนจรเรื่อยไป ไม่สามารถหาที่พำนักเพื่อให้กำเนิดบุตรได้
 ในที่สุดนางก็มาถึงเกาะดีลอส เกาะน้อยนี้ให้การต้อนรับนาง เนื่องด้วยเกาะนี้ยังลอยอยู่ ยังไม่ได้เป็นแผ่นดิน จึงมีลักษณะไม่ตรงกับที่เฮราทรงรับสั่งไว้ ลีโททรุดกายลงใต้ร่มต้นปาล์มอย่างเหนื่อยอ่อน แต่ยังให้กำเนิดบุตรไม่ได้ เนื่องจากเฮรา รับสั่งห้ามเทพธิดา อิลิเทียอา เทพีแห่งเด็กเกิดใหม่ไม่ให้ช่วยเหลือ ถ้านางไม่ช่วยเด็กก็จะไม่สามารถคลอดออกมาได้ เทพธิดาอื่น ๆ ทรงสงสารลีโท จึงพยายามอ้อนวอนให้พระทัยของเฮราอ่อนลง โดยถวายสร้อยพระศอเส้นงามแก่นาง สร้อยเส้นนี้ยาวเก้าหลา ทำด้วยทองคำและอำพัน ในที่สุดเฮราก็ทรงยอมปล่อยอิลิเทียอาไป โดยเทพธิดาไอริส ทรงนำอิลิเทียอา ลงมาหาลีโททางสายรุ้ง
 บุตรของลีโท แฝดผู้พี่ คือ อาร์ทีมิส เป็นเทพธิดาแสนสวยดุจดวงจันทร์ เส้นเกศาสีดำเหมือนรัตติกาล นางได้เป็นเทพีแห่งการล่าสัตว์ และ เทพีของสิ่งมีชีวิตที่เกิดใหม่ ฝาแฝดองค์รองคือ อะพอลโล ซึ่งเป็นเทพบุตร ที่สง่างาม ราวดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งดนตรี แสงสว่างและเหตุผล
 ซุสดีพระทัยที่เห็นคู่แฝดสวยงามทั้งคู่ ท่านได้ประทานธนูเงินและลูกธนูเต็มกระบอกให้คนละชุด ลูกธนูของ อาร์ทีมิสอ่อนนุ่ม เหมือนแสงจันทร์ และผู้ถูกลูกธนูนี้จะตายโดยไม่เจ็บปวด ส่วนลูกธนูของอะพอลโล แข็งและแหลมคมเหมือนแสงอาทิตย์
 ซุสประทานพรแก่เกาะนี้และยังผูกติดไว้กับก้นทะเล ทำให้ไม่ต้องลอยไปลอยมาอีกต่อไป หญ้าและไม้ดอกเจริญงอกงามขึ้นอย่างอุดมสมบูรณ์ ตั้งแต่นั้นมา ดีลอสกลายเป็นเกาะที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด ในบรรดาเกาะของประเทศกรีซ ผู้จาริกแสวงบุญ ต่างพากันมาที่เกาะนี้ และสร้างเทวาลัยไว้มากมายเพื่อเทิดทูนลีโอ และโอรสธิดาคู่แฝดของนาง"
 เทพโพไซดอนมีความสำคัญสำหรับชาวกรีก รองลงมาจากเทพซุส ด้วยเหตุว่าชาวกรีกที่อาศัยอยู่ทั้งสองฝั่ง ของทะเลอีเจียนเป็นชาวทะเล ดังนั้นเทพแห่งท้องทะเลจึงมีความสำคัญอย่างมาก และนอกจากพระองค์จะเป็นเทพแห่งท้องทะเลแล้ว พระองค์ยังเป็นผู้ประทานม้าตัวแรกให้แก่มนุษย์ โดยการใช้อาวุธประจำกาย นั่นก็คือตรีศูลหรือสามง่าม ตีก้อนหินจนเกิดเป็นน้ำพุเกลือและกลายเป็นม้าตัวแรกของโลก พระองค์จึงได้รับการสรรเสริญ ทั้งในฐานะที่เป็นเทพเจ้า แห่งท้องทะเล และ ผู้ประทานม้าตัวแรกให้แก่มนุษย์อีกด้วย
 วิหารของ เทพโพไซดอนอยู่ที่ อัคซูเนียน ประเทศกรีซ อยู่บนอะโครโพลิสตรงข้ามกับวิหารพาร์เธนอนที่โด่ง
ดัง ซึ่งเป็นของเทพีอะธีนา







เทพดิมีเตอร์ เทพีแห่งการเกษตร



 ซูสเทพปริณายก มีเทวีภคินี 3 องค์ ในจำนวนนี้ 2 องค์เป็นคู่พิศวาสของซูสด้วย องค์หนึ่งคือเจ้าแม่ฮีรา ที่เราได้รู้จักกันมาแล้ว อีกองค์ทรงนามว่า ดีมิเตอร์ (Demeter) ตามชื่อกรีกหรือภาษาโรมันว่า ซีริส (Ceres) เป็นเทวีครองข้าวโพด  ซึ่งหมายถึงการเกษตรกรรมนั่นเอง 
             เจ้าแม่ดีมิเตอร์มีธิดาองค์หนึ่งทรงนามว่า  โพรสเสอพิน (Proserpine) หรือ เพอร์เซโฟนี (Persephone) เป็นเทวีครองฤดูผลิตผลของพืชทั้งปวง เพื่ออธิบายธรรมชาติของการผลัดฤดู กวีกรีกโบราณจึงผูกเรื่อง ให้เทวีองค์นี้ถูกฮาเดสลักพาตัวไปเป็นคู่ครองในยมโลก ดังมีเรื่องพิสดารดังนี้
             ฮาเดสปกครองยมโลกอยู่คนเดียว โดดเดี่ยวไร้คู่ปฏิพัทธ์มาเป็นเวลานาน หามีเทวีองค์ใดไยดีที่จะร่วมเทวบัลลังก์กับเธอ  เทวีแต่ละองค์ที่เธอทอดเสน่หา  ต่างองค์ต่างก็ไม่สมัครรักใคร่เธอ  ด้วยไม่ปรารถนาจะลงไปอยู่ในใต้หล้าแดนบาดาล  อันดวงสุริยาไม่สามารถทอแสงลงไปถึง  ทำให้เธอมึนตึงหมางหทัยนัก  ในที่สุดจึงต้องตั้งปณิธานจะไม่ทอดเสน่หาใครอีกเป็นอันขาด  หากปฏิพัทธ์สวาทกับใคร ก็จะฉุดคร่าพาเอาลงไปบาดาลดื้อ ๆ
             วันหนึ่งเพอร์เซโฟนีพร้อมเพื่อนเล่นทั้งมวลชวนกันลงเที่ยวสวนดอกไม้  เที่ยวเด็ดดอกไม้อันจรุงกลิ่น  สอดสร้อยร้อยมาลัยอยู่เป็นที่สำราญ  บังเอิญฮาเดสขับรถทรงแล่นผ่านมาทางนั้น  ได้ยินสรวลสรรหรรษาร่าเริงระครเสียงขับร้องของ  เหล่านางอัปสรสาวสวรรค์ลอยมา  เธอจึงหยุดรถทรงลงไปเยี่ยมมองทางช่องสุมทุมพุ่มไม้ ครั้นพบเทวีรุ่นสะคราญทรงโฉม วิลาสลิไลนักให้นึกรักจะเอาไปไว้ในยมโลก  เธอจึงก้าวกระชากชิงอุ้มเพอร์เซโฟนีเทวีขึ้นรถไปในทันที 
              ฮาเดสขับรถเร่งไปจนถึงแม่น้ำไซเอนี (Cyane) ซึ่งขวางหน้าอยู่เห็นน้ำในแม่น้ำเกิดป่วนพล่านแผ่ ขยายท่วมท้นตลิ่งสกัดกั้นเธอเอาไว้ จึงชักรถไปทางอื่น  ใช้มือถือคู่หัตถ์มีง่าม 2 แฉก  กระแทกกระทุ้งแผ่นดินให้แยก ออกเป็นช่องแล้วขับรถลงไปยังบาดาล  ในขณะเดียวกันนั้นเพอร์เซโฟนีแก้สายรัดองค์ขว้างลงในแม่น้ำไซเอนี พลางร้องบอกนางอัปสรประจำแม่น้ำให้เอาไปถวายเจ้าแม่ดีมิเตอร์  ผู้มารดาด้วย
             ฝ่ายดีมิเตอร์แม่โพสพกลับมาจากทุ่งข้าวโพดไม่เห็นธิดา  เที่ยวเพรียกหาก็ไม่พานพบวี่แววอันใด  เว้นแต่ ดอกไม้ตกเรี่ยราดกลาดเกลื่อนอยู่  เจ้าแม่เที่ยวหากระเซอะกระเซิงไปตามที่ต่าง ๆ พลางกู่เรียกไปจนเวลาเย็นให้อาดูรโทมนัสนัก  ล่วงเข้าราตรีกาลเจ้าแม่ก็ไม่หยุดพักการเสาะหาธิดา  จนถึงรุ่งอรุรของวันใหม่  แม้กระนั้นเจ้าแม่ก็ไม่ลดละความพยายาม  คงดั้นด้นเรียกหาธิดาไปตามทางอีก  มิได้ห่วงถึงภาระหน้าที่ประจำที่เคยปฏิบัติแต่อย่างใด ดอกไม้ทั้งปวง  จึงเหี่ยวเฉาเพราะขาดฝนชโลมเลี้ยง  ติณชาติตายเกลี้ยงไม่เหลือ  พืชพันธุ์ธัญญาหารถูกแดดแผดเผาซบเซาหมด  ในที่สุดเจ้าแม่ก็สิ้นหวังระทดระทวยหย่อนองค์ลงนั่งพักที่ริมทางใกล้นครอีลูสิส  ความระทมประดังขึ้นมาสุดที่จะหักห้าม เจ้าแม่ก็ซบพักตร์กันแสงไห้ตามลำพัง
             ในระหว่างที่ยังไม่พบธิดานี้ มีเรื่องแทรกเกี่ยวกับเจ้าแม่ดีมิเตอร์เกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง สมควรจะเล่าไว้เสียด้วย 
             เพื่อมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดรู้จัก เจ้าแม่ดีมิเตอร์ได้จำแลงองค์เป็นยายแก่  ในขณะที่เจ้าแม่นั่งพัก  พวกธิดาของเจ้านครอีลูสิสรู้ว่ายายแก่มานั่งคร่ำครวญคิดถึงลูก บังเกิดความสังเวชสงสาร และเพื่อที่จะให้ยายหายโศกเสร้า นางเหล่านั้นจึงชวน ยายแก่เข้าไปในวังให้ดูแลกุมาร ทริปโทลีมัส (Triptolemus) ผู้น้อง ซึ่งยังเป็นทารกแบเบาะอยู่
             เจ้แม่ดีมิเตอร์ยอมรับภาระนี้  พอลูบคลำโอบอุ้มทารก  ทารกก็เปล่งปลั่งมีนวลขึ้นเป็นที่อัศจรรย์แก่เจ้านครและบริษัท  บริวารยิ่งนัก  ตกกลางคืนขณะที่เจ้าแม่อยู่ตามลำพังกับทารก  เจ้าแม่คิดใคร่จะให้ทารกได้ทิพยภาพเป็นอมรรตัยบุคคล  จึงเอาน้ำต้อยเกสรดอกไม้ชะโลมทารกพลางท่องบทสังวัธยายมนต์ แล้ววางทารกลงบนถ่านไฟอันเร่าร้อน  เพื่อให้ไฟลามเลียเผา  ผลาญธาตุมฤตยู ที่ยังเหลืออยู่ในกายทารกให้หมดสิ้น 
             ฝ่ายนางพญาของเจ้านคร ยังไม่วางใจยายแก่นัก ค่อยย่องเข้าไปในห้องเพื่อคอยดู ประจวบกับตอนเจ้าแม่ดีมิเตอร์กำลังทำพิธีชุบทารกอยู่พอดี  นางตกใจนักหวีดร้องเสียงหลง  พลางถลันเข้าฉวยบุตรออกจากไฟ  ครั้นเห็นบุตรสุดสวาทไม่เป็นอันตรายแล้ว  จึงหันกลับมาจะไล่เบี้ยเอากับยายแก่เสียให้สาสมกับความโกรธแค้น  แต่แทนที่จะเห็นยายแก่  กลับเห็นรูปเทวีประกอบด้วยรัศมีเรืองรองอยู่ตรงหน้า  เจ้าแม่ตรัสพ้อนางพญาโดยสุภาพ  ในการที่เข้าไปขัดขวางการพิธีเสีย ทำให้มนต์เสื่อมและชุบทารกอีกไม่ได้  แล้วเจ้าแม่ดีมิเตอร์ก็ออกจากเมืองอีลูสิสเที่ยวหาธิดาต่อไป

              วันหนึ่งเจ้าแม่ดีมิเตอร์พเนจรเลียบฝั่งแม่น้ำอยู่  พลันได้ประสบวัตถุแวววาวสิ่งหนึ่งอยู่แทบบาท  เจ้าแม่จำได้  ทันทีว่าเป็นวายรัดองค์ของธิดา  คือสายรัดองค์ที่เพอร์เซโฟนีทิ้งฝากนางอัปสรแห่งแม่น้ำไซเอนีไว้  เมื่อตอนรถทรงของฮาเดสจะลงสู่บาดาล  เจ้าแม่ได้ของสิ่งนี้ยินดียิ่งนัก  แสดงว่าธิดาอยู่ใกล้ที่นั้น  จึงรีบดำเนินไปจนถึงน้ำพุแก้วแห่งหนึ่ง  รู้สึกเมื่อยล้าจึงลงพักทอดองค์ตามสบาย  พอรู้สึกเคลิ้มจะหลับเสียงน้ำพุก็ฟ่องเฟื่องยิ่งขึ้นเหมือนเสียงพูดพึมพำ  ในที่สุดเจ้าแม่ก็จับความได้ว่า  เป็นความประวัติของตนให้เจ้าแม่สดับฟังและต้องการจะแจ้งข่าวของธิดาเจ้าแม่ว่าเป็นประการใด  น้ำพุเล่าประวัติของตนเองว่า  เดิมตนเป็นนางอัปสรขื่อว่า แอรีธูซา (Arethusa) บริวารของเทวีอาร์เตมิส (Artemis) วันหนึ่งลงอาบน้ำในแม่น้ำแอลฟีอัส (Alpheus) เทพประจำน่านน้ำนั้นหลงรัก แต่นางไม่ไยดีด้วยจึงหนีไป  ส่วนเทพนั้นก็ติดตามไม่ลดละ  นางหนีเตลิดข้ามเขาไปตลอดแว่นแคว้น  ซ้ำผ่านแดนบาดาลไปตลอดอาณาเขตของฮาเดส  ได้เห็นเพอร์เซโฟนีประทับบัลลังก์อาสน์อยู่ในที่ราชินีแห่งยมโลก  ครั้นกลับขึ้นมาอ่อนแรงเห็นไม่พ้นเทพแอลฟีอัส  นางเสี่ยงบุญอธิษฐานยึดเอาเจ้าแม่ของนางเป็นที่พึ่ง เทวีเดียนาจึงโปรดบันดาลให้นางกลายเป็นน้ำพุอยู่ ณ ที่นั่น 
             เมื่อได้รู้ถึงที่อยู่ของธิดาดังนี้แล้ว เจ้าแม่ดีมิเตอร์จึงรีบไปอ้อนวอนเทพปริณายกให้ช่วย  ซูสอนุโลมตามคำวอนขอ  โดยมีเงื่อนไขว่า  ถ้าเพอร์เซโฟนีไม่ได้เสพเสวยสิ่งใดในระหว่างที่อยู่บาดาล จะให้ฮาเดสส่งเพอร์เซโฟนีขึ้นมาอยู่กับมารดา  แล้วมีเทวบัญชาให้เฮอร์มีสลงไปสื่อสารแก่ฮาเดสในยมโลก  เจ้าแดนบาดาลจำต้องยอมโอนอ่อนจะส่งเพอร์เซโฟนีคืนสู่  เจ้าแม่ดีมิเตอร์  แต่ในขณะนั้นภูตครองความมืดเรียกว่า แอสกัลลาฟัส (Ascalaphus) ร้องประกาศขึ้นว่า ราชินีแห่งยมโลกได้เสวยเมล็ดทับทิมแล้ว 6 เมล็ด  ในที่สุดจึงตกลงกันเป็นยุติว่า ในปีหนึ่ง ๆ ให้เพอร์เซโฟนีเทวีอยู่กับฮาเดสใน ยมโลก 6 เดือน สำหรับเมล็ดทับทิมที่เสวยเมล็ดละเดือน แล้วให้กลับขึ้นมาอยู่กับมารดาบนพิภพอีก 6 เดือน สลับกันอยู่ทุกปีไป  ด้วยเหตุนี้เมื่อเพอร์เซโฟนีเทวีอยู่กับมารดา  โลกจึงอยู่ในระยะกาลของวสันตฤดู  พืชพันธุ์ธัญญาหารนานาชนิดผลิดอก  ออกผล  และเมื่อเพอร์เซโฟนีเทวีลงไปอยู่ในบาดาล  โลกก็ตกอยู่ในระยะกาลของเหมันตฤดู  พืชผลทั้งปวงร่วงหล่นซบเซา  อันเป็นความเชื่อของชาวกรีกและโรมันโบราณ ตามเรื่องที่เล่ามาฉะนี้
             ยังมีเรื่องที่ต้องเล่าต่ออีกเล็กน้อย คือเมื่อเจ้าแม่ดีมิเตอร์พบธิดาแล้ว ก็กลับไปยังเมืองอีลูสิสอีก เพราะว่าเจ้า ครองนครกับนางพญาปลูกวิหารถวายเจ้าแม่ไว้ที่นั่น เพื่อให้มนุษย์รู้จักการทำไร่ ไถนา เจ้าแม่ได้สั่งสอนทริปโทลีมัส ซึ่งเติบโตเจริญวัยเป็นผู้ใหญ่แล้ว  ให้รู้จักใช้ไถ จอบ และเคียว สั่งสอนชาวนาสืบ ๆ กันมาจนตราบเท่าบัดนี้ 



เทพเฮรา ราชินีแห่งทวยเทพ



ฮีรา หรือ เฮรา (อังกฤษ: Hera /ˈhɪərə/, /ˈhɛrə/กรีก: Ήρα, Ήρη) เป็นมเหสีและเชษฐภคินี (น้องสาว) ของซูส พระนางเป็นเทพีแห่งหญิงสาวและชีวิตสมรส เป็นผู้ปกป้องสตรีที่แต่งงานแล้ว พระนางทรงประทับบนพระบัลลังก์ทองคำเคียงข้างซูสบนภูเขาโอลิมปัส และทรงพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่ใส่พระทัยกับเรื่องราวรักๆ ใคร่ๆ ที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรมของสวามี ฮีราได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเทพธิดาผู้มีพระกรใสกระจ่างดุจงาช้าง ในตำนานโบราณสัตว์ประจำองค์ของเทพีฮีราคือวัว แต่ในตำนานยุคใหม่นกยูงเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประจำพระองค์ และจะตามเสด็จอยู่ไม่ห่าง
เทพีฮีราเป็นที่รู้จักกันดีในด้านของอารมณ์ดุร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชายาองค์อื่นๆของซูส และบุตรที่เกิดจากชายาเหล่านั้น ไม่ว่าพวกนางจะเป็นเทพีหรือเป็นมนุษย์ก็ตาม ตัวอย่างของผู้ที่ถูกเทพีฮีราปองร้ายมีมากมาย เช่น เทพีลีโต มารดาของเทพอพอลโล่และเทพีอาร์ทีมิส เฮอร์คิวลิส ไอโอ ลามิอา เกรานา ซิมิลี มารดาของเทพไดโอนิซัส ยูโรปา เป็นต้น
ในมหากาพย์อีเลียด ของ โฮเมอร์ ได้กล่าวถึงพระนางว่า เทพีตาวัว (the ox-eyed goddess) ซึ่งแสดงถึงสัตว์ประจำตัวของฮีรานั่นเอง
กำเนิดของฮีรา
ฮีราเป็นบุตรองค์ที่ 3 ของโครนัสและรีอา พระนางถูกโครนัสกลืนลงท้องไปตั้งแต่เพิ่งถือกำเนิดเนื่องจากคำสาปของไกอาที่ว่าบุตรของโครนัสจะโค่นอำนาจของโครนัสเหมือนกับที่โครนัสได้โค่นอำนาจของยูเรนัส แต่ต่อมาเทพีรีอาได้ซ่อนซีอุสผู้เป็นบุตรองค์สุดท้องไว้และนำซีอุสกลับมาเพื่อแก้แค้นโครนัส และนำพี่ๆที่ถูกกลืนเข้าไปอยู่ในท้องของโครนัสออกมา เทพีฮีราจึงปรากฏกายขึ้น
เชื่อกันว่าเทพีฮีราถูกเลี้ยงดูมาโดยไททันทีธิส และมหากาพย์อิเลียด ในครั้งที่ฝ่ายทรอยกำลังได้เปรียบเพราะซูสได้หนีจากเขาโอลิมปัสไปยังเขาไอดาเพื่อให้การช่วยเหลือชาวทรอย ฮีราได้อ้างว่าจะไปพบกับเทพีทีธิส เพื่อจะได้ขอยืมเครื่องแต่งกายที่สวยที่สุดจากอะธีน่าและสร้อยคอแห่งความปรารถนาจากอะโฟรไดท์ไปใช้ในการล่อลวงให้ซูสหันเหความสนใจจากสงครามแห่งทรอย เปิดทางให้โพไซดอนได้นำกำลังไปถล่มชายฝั่งทรอย
ฮีราและซูส
บางตำนานได้กล่าวว่าเมื่อเหล่าเทพโอลิมเปียนได้เอาชนะโครนัสและย้ายขึ้นมาสร้างวิมานบนเทือกเขาโอลิมปัสแล้ว ซูสก็ได้เสาะหาหญิงงามผู้คู่ควรกับตำแหน่งราชินีแห่งเทพทั้งมวล และในที่สุดพระองค์ก็ตัดสินใจเลือกเทพีฮีรา พระเชษฐ์ภคินีของตนเอง
ฮีราไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจนี้(เพราะขยาดในความเจ้าชู้ของซูสนั่นเอง) และขังตนเองอยู่ในวิหารเพื่อหนีจากการสมรสกับมหาเทพแห่งโอลิมปัส ซูสจึงปลอมตัวเป็นนกเขาบาดเจ็บบินเข้าไปซบอุระของฮีรา และแน่นอนว่าเทพีผู้อ่อนหวานจะต้องนำนกตัวนั้นเข้าไปพยาบาลในวิหารแน่นอน เมื่อทั้งคู่เข้าไปในวิหารของฮีราแล้ว ซูสก็กลับร่างเป็นมหาเทพและรวบรัดฮีราเป็นราชินีของพระองค์
บุตรของฮีรา
ฮีรามีบุตรทั้งหมด ดังนี้
1.    ฮีบี (Hebe) หรือ แกนีมีดา เทพธิดาแห่งความเยาว์วัย ได้รับหน้าที่ ให้ถือถ้วยของเทพเจ้า จนถูกปลด ให้เจ้าชาย แกนิมีดทำแทน เนื่องจากนาง แสดงความหยาบคาย ในงานที่จัดขึ้น ที่โอลิมปุสงานหนึ่ง
2.    อิลิธียา (Eileithyia อาจมีการสะกดหลายแบบ) หรือ ลูซิดา ในตำนานโรมัน ซึ่งเป็นเทพีแห่งการให้กำเนิดทารก
3.    แอรีส (Ares) หรือ มาร์ส เทพเจ้าแห่งสงคราม
4.    อีริส (Eris) หรือ ดิสคอร์เดีย เทพธิดาแห่งการวิวาทบาดหมาง ฝาแฝดของแอรีส (ซึ่งเป็นเทพธิดา ผู้กลิ้งลูกแอปเปิ้ลทองคำ ที่สลักคำว่า แด่ผู้ที่งดงามที่สุดเข้าไปในกลุ่มเทพธิดา ที่มาใน งานแต่งงานในโอลิมปุส จนผลของการตัดสินของ เจ้าชายปารีส นำไปสู่มหาสงคราม ซึ่งทำให้ทรอยล่มสลาย)
5.    ฮีเฟสตุส (Hephaestus) หรือวัลแคน เทพแห่งการช่าง เทพองค์นี้ ส่วนมากว่า เป็นโอรสที่ฮีรา ให้กำเนิดฝ่ายเดียว ไม่เกี่ยวกับซุส หรือชายใด
บางตำนานกล่าวว่าฮีราอิจฉาที่ซูสสามารถให้กำเนิดบุตรด้วยตนเองได้ นั่นคืออะธีน่า นางจึงสร้างฮีเฟสตุส ขึ้นมาด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากซูส แต่เมื่อฮีเฟสตุสถือกำเนิดขึ้นนางก็โยนบุตรชายลงจากเขาโอลิมปัสเนื่องจากรังเกียจรูปร่างหน้าตาที่น่าเกลียดของฮีเฟสตุส ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ฮีเฟสตุสกลายเป็นเทพที่มีขาพิการ
ภายหลังฮีเฟสตุสได้ทำการแก้แค้นพระมารดาด้วยการสร้างบัลลังก์ทองที่แสนสวยงามให้ฮีรา แต่เมื่อนางนั่งลงบนบัลลังก์ทองนั้นแล้วกลับลุกขึ้นมาไม่ได้อีกเลย
เทพโอลิมปัสร่วมกันอ้อนวอนให้ฮีเฟสตุสกลับขึ้นมาอยู่บนเทือกเขาโอลิมปัสและให้อภัยพระมารดา แต่ฮีเฟสตุสไม่ยอม ในที่สุดเหล่าเทพจึงส่งเทพไดโอไนซัสผู้เป็นเทพแห่งเหล้าองุ่นให้มอมเหล้าฮีเฟสตุสและนำเขาขึ้นมายังเทือกเขาโอลิมปัส ทำให้คำสาปเรื่องบัลลังก์ทองเสื่อมไป เทพีฮีราจึงได้ลุกขึ้นจากบัลลังก์อีกครั้ง



เทพเฮสเทีย เทพีพรมจรรย์แห่งการครองเรือน

 ในคณะเทพโอลิมเปียนมีเทวีพรหมจารีอยู่ 3 องค์ ทรงนามตามลำดับว่า เฮสเทีย (Hestia) เอเธน่า (Athene) อาร์เตมิส (Artemis) องค์แรกเป็นเทวีภคินีของเทพปริณายกซูส ส่วน 2 องค์หลังเป็นธิดา แต่ละองค์มีประวัติและความสำคัญดังจะกล่าวต่อไปนี้
             เฮสเทีย (Hestia) ในภาษาโรมันว่า เวสตา (Vesta) เป็นที่เคารพนับถือในฐานะอัคนีเทวีผู้ครองไฟ โดย เฉพาะไฟเตาผิงตาม เคหสถานบ้านช่อง เพราะฉะนั้นจึงถือกันว่าเจ้าแม่ย่อมคุ้มครองชีวิตความเป็นอยู่ในบ้านด้วย เตาไฟผิงเป็นที่ ศักดิ์สิทธิ์มากสำหรับครอบครัวกรีก และโรมันจนเกือบจะเรียกว่า ที่บูชาก็ได้ ด้วยเขาถือว่า ไฟที่ลุกบนเตานั้นเป็นไฟของเจ้าแม่ เมื่อ มีเด็กเกิดใหม่ในบ้านกรีก พอเด็กอายุได้ 5 วัน พ่อของเด็กจะอุ้มลูกไปเวียนรอบเตาผิง ซึ่งในสมัยโน้นอยู่กลางเคหสถาน ไม่ได้อยู่ ติดฝาเหมือนสมัยนี้ การอุ้มลูกไปเวียนรอบเตาผิงนั้นก็เพื่อให้ เป็นเครื่องหมายว่า เจ้าแม่จะได้รับเด็กนั้นไว้ในความอารักขา คุ้มครองของเจ้าแม่ โดยเฉพาะเวลาที่เด็กเริ่มเดิน
             เฮสเทียเป็นพี่สาวคนโตของซูส เป็นเทวีที่รักษาความโสดอย่างดียิ่ง ประชาชนจึงเคารพนับถือเฮสเทียด้วยเหตุผลนี้อีก อย่างหนึ่งด้วย เฮสเทียไม่ยอมเป็นชายาของซูส แม้โปเซดอนซึ่งเป็นพี่ชายขอแต่งงานด้วยเฮสเทียก็ไม่ยินยอม และอพอลโลซึ่ง เป็นหลานก็ถูกปฏิเสธเช่นกัน
             วิหารของเจ้าแม่เฮสเทีย มีลักษณะเป็นวงกลม และมีเจ้าพิธีเป็นหญิงพรมหมจารี ผู้สละการวิวาห์อุทิศถวายเจ้าแม่ ทำหน้าที ่คอยเติมไฟในเตาไฟสาธารณะ ซึ่งมีประจำทุกนคร มิให้ดับ
             ชาวโรมันเชื่อว่า ลัทธิบูชาเจ้าแม่เฮสเทียแผ่ไปถึงถื่นประเทศของตน โดยมีวีรบุรุษ อีเนียส (Aeneas) เป็นผู้นำเอาเข้า ไป แล้ว นูมาปอมปิเลียส (Numa Pompilius) กษัตริย์กรุงโรมจึงสร้างศาลเจ้าอุทิศถวายเจ้าแม่ขึ้นในกลางยี่สานโรมัน ซึ่งเรียกว่า Roman Forum เขาเชื่อกันเป็นมั่นเหมาะแน่นแฟ้นว่า สวัสดิภาพของกรุงโรมทั้งมวล และการแผ่นดินทั้งปวงนั้นขึ้นอยู่ที่ การรักษาเปลวไฟศักดิ์สิทธิ์ ณ วิหารนั้ให้ดำรงอยู่เป็นสำคัญ 
             หญิงพรหมจารีผู้ทำหน้าที่คอยอารักขาเปลวไฟแห่งวิหารนี้เรียกว่า เวศตัล (Vestal) ในชั้นเดิมมี 4 คน ต่อมาในชั้นหลังเพิ่มขึ้นเป็น 6 คน อยู่ในความควบคุม ของจอมอาจารย์บัญชาการศาสนาของโรมเรียกว่า Pontifex Maximus เมื่อคณะเวสตัลพรหมจารีขาดจำนวนลง จอมอาจารย์ผู้นี้จะเลือกผู้สืบแทนในตำแหน่งที่ ว่างจากเวสตัลสำรองทั้งหมดด้วยวิธีการจับสลาก ผู้สมัครเป็นเวสตัลสำรองนั้นจะต้องมีอายุในระหว่าง 6-10 ขวบ มีร่างกายและจิตใจสมประกอบ และมีชาติกำเนิดเป็นชาวอิตาลี เวสตัลสำรองจะต้องรับการฝึกฝนอบรมเป็นเวลา 10 ปี แล้วเลื่อนขึ้นเป็นเวสตัลปฏิบัติหน้าที่ในวิหารศักดิ์อีก 10 ปี เมื่อพ้นกำหนดนั้นแล้วต้องทำหน้าที่สั่งสอนอบรมเวสตัล สำรองต่อไปอีก 10 ปี จึงครบเกษียณอายุราชการ ปลดเป็นไทเมื่ออายุ 40 ถ้าพึงประสงค์ก็อาจประกอบอาชีพอย่างอื่นและมีสามีได้ในตอนนั้น
             นอกจากหน้าที่คอยเติมไฟศักดิ์สิทธิ์มิให้ขาดเชื้อแล้วพรหมจารีเวสตัลยังมีภาระกิจที่จะต้องกระทำอีก 2 อย่าง อย่างหนึ่งคือ ต้องไปตักน้ำจากบ่อน้ำพุ อิจีเรีย (Egeria)       ที่ชานกรุงโรมทุกวัน ความสำคัญของน้ำพุนี้มีตำนานเล่ากันว่า เดิมอิจีเรียเป็นนางอัปสรบริวารของเทวีอาร์เตมิส นางมีความเฉลียวฉลาด และเป็นคู่หูของ ท้าวนูมาปอมปิเลียส ซึ่งโปรดหารือการแผ่นดินทั้งปวงกับนางมิได้ขาด กวีโอวิคถึงแก่ระบุว่า นางเป็นชายาของท้าวนูมาด้วยซ้ำ แต่กวีคนอื่นกล่าวว่านางเป็นเพียงที่ปรึกษา เท่านั้น อิทธิพลของชื่ออิจีเรียมีเพียงใดจะเห็นได้จากตอนท้าวนูมาบัญญัติกฎหมายและระเบียบตามแบบแผนใหม่ ๆ มักจะประกาศแก่ราษฎรว่ากฎหมายและระเบียบแบบ แผนนั้น ๆ ได้รับการเห็นชอบของนางอิจีเรียแล้วด้วยเสมอ เมื่อท้าวนูมาทิวงคต นางอิจีเรียเศร้าโศกนักหนา เอาแต่ร้องไห้คร่ำครวญจนกลายเป็นน้ำพุไป ชาวโรมันจึงถือกัน ว่า น้ำพุอิจีเรียเป็นน้ำพุบริสุทธิ์ด้วยเหตุนี้ 
              หน้าที่พิเศษของพรหมจารีเวสตัลนั้นได้แก่การอารักขาวัตถุลึกลับและศักดิ์สิทธิ์มากอันหนึ่ง เรียกว่า พัลเลเดียม (Palladium) เชื่อกันว่าเป็นวัตถุที่อีเนียสนำไปจากกรุงทรอย แต่ไม่มีใคร นอกจากคณะเวสตัลทราบว่าเป็นอะไรกันแน่ บ้างว่าเป็นรูปประติมาของ เจ้าแม่เอเธน่า แต่บ้างก้ว่าเป็นโล่ อันหนึ่งตกลงมาจากสวรรค์ เมื่อครั้งศึกกรุงทรอย พวกกรุงทรอยถือเป็นของคู่เมืองว่าตราบใดของนี้ ยังอยู่ ในกรุงทรอย ตราบนั้นบ้านเมืองจะไม่แตกเป็นอันขาด ต่อเมื่อยูลิซิสกับไดโอมิดิสทหารเอกฝ่ายกรีกลักเอา ของนี้ไป กรุงทรอย จึงแตก แต่มีตำนานหลายเรื่องแก้ว่าทรอยแตกเพราะเสียขวัญ และเสียกลแก่กรีก มากกว่า ด้วยว่าของที่กรีกขโมยไปนั้น เป็นของ กำมะลอที่ฝ่ายกรุงทรอยทำเอาไว้กันของแท้ถูกขโมย ส่วน พัลเลเดียมของจริงยังอยู่ในกรุงทรอย เมื่อพวกกรีกเข้าเมืองได้ อีเนียสพาเอาไปด้วยจนถึงอิตาลี แล้วภาย หลังชาวโรมันเอาเก็บรักษาไว้ในที่ซ่อนมิดชิดในวิหารเจ้าแม่เฮสเทีย อยู่ในความอารักขา คุ้มครองของ คณะเวสตัลพรหมจารีอย่างเคร่งครัด
             พรหมจารีเวสตัลไม่แต่จะมีหน้าที่สำคัญดังกล่าวแล้วเท่านั้น หากยังมีเอกสิทธิ์เหนือสามัญชน หลายประการอีกด้วย อาทิเช่น เมื่อมีงานเฉลิมฉลองสมโภช การเล่นรื่นเริงและการแข่งขันสาธารณะ เขาจัดที่พิเศษสำหรับคณะเวสตัลพรหมจารีโดยเฉพาะเป็น เกียรติยศ เมื่อเวสตัลพรหมจารีไปต่างแดน มี เจ้าพนักงานถือมัดขวานเรียกว่า fasces นำหน้าเป็นเครื่องหมายถึงอำนาจเทียบเท่า ด้วยอำนาจ ตุลาการ มัดขวานนั้นคือขวานที่หุ้มด้วยไม้กลมเล็ก ๆ กระหนาบรอบขวานมัดไว้ด้วยกันส่วนขวานโผล่บน ยอดหันคมออก เป็นของสำหรับเจ้าพนักงานถือนำหน้าตุลาการ แสดงถึงอำนาจในการตัดสินอรรถคดี เมื่อ พรหมจารีเวสตัลให้การเป็นพยานในศาล สถิตยุติธรรมก็ไม่ต้องสาบานว่าจะพูดความจริง เพียงให้การลุ่นๆ เท่านั้นศาลก็รับฟัง ถ้าบังเอิญเวสตัลคนหนึ่งคนใดพบนักโทษเข้า ในระหว่างทางที่เขาพาเอาไปจะประหาร ชีวิต ถ้าพึงประสงค์ก็อาจจะให้อภัยโทษปล่อยนักโทษนั้นให้เป็นไทได้ ณ ที่นั้นโดยพลการ
             ชาวโรมันนับถือเจ้าแม่เฮสเทียมั่นคงตลอดมาจนลุถึงคริสตศักราชปีที่ 380 จึงยุติ ด้วยอธิราช ธีโอโดเซียสให้ระงับการ เติมไฟศักดิ์สิทธิ์ และยุบเลิกคณะพรหมจารีเวสตัลเสีย




เทพแอรีส เทพแห่งสงคราม



แอรีส หรือที่ชาวโรมันเรียกว่า มาร์ส (Mars) เป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม อาวุธ และชุดเกราะ และเป็นหนึ่งในสิบสองเทพแห่งโอลิมปัสด้วย
แอรีส เป็นเทพแห่งการสงครามเช่นเดียวกับ อธีน่า แต่ทว่าอธีน่าจะได้รับการยกย่องและบูชามากกว่า เนื่องจากอธีน่าเป็นเทพีที่ใช้สติปัญญาวางแผนในการสู้รบมากกว่า ซึ่งได้รับการบูชาในฐานะเทพีแห่งสติปัญญาด้วย ผิดกับแอรีสซึ่งมักจะใช้ความดุดันและโหดร้ายในการสงครามมากกว่า ซึ่งโฮเมอร์ กวีเอกคนสำคัญของกรีกโบราณ ยังเคยเขียนถึงพระองค์ว่า เป็นเทพที่โหดร้ายและหยาบช้า
           แอรีส ซึ่งเป็นชู้รักของเทวีอโฟรไดท์เธอเป็นบุตรองค์หนึ่งของเทพปริณายก ซูส กับเจ้าแม่ ฮีรา และเป็นที่เกลียดชังของเทพและมนุษย์ทั้งปวงเว้นแต่ชาวโรมัน ผู้มีนิสัยชอบการสงคราม
             ชาวโรมันเทิดทูนสดุดีเทพองค์นี้ยิ่งนัก ถึงกับอุปโลกน์ให้เป็นเทพบิดาของ โรมิวลัส (Romulus) ผู้สร้างกรุงโรม และพรรณาสรรเสริญเกียรติคุณของเธอนานัปการ ตรงกันข้ามกับชาวกรีก ซึ่งนอกจากจะไม่นิยมเลื่อมใสเทพองค์นี้แล้ว ยังถือว่า เธอเป็นเทพที่มีสันดานป่าเถื่อนดุร้าย ปราศจากความเมตตากรุณาเสียอีก ในมหากาพย์อิเลียด ซึ่งเป็นบทกวี เกี่ยวกับการ สงครามแท้ ๆ เธอเป็นที่เกลียดชังตลอดเรื่อง นักกวีโฮเมอร์ถึงแก่ประณามเธอว่า "ยินดีในการประหัตประหาร มีมลทินด้วยเลือด เป็นอุบาทว์สำหรับมนุษย์ทั้งปวง" เมื่อสรุปตามสายตาของกรีกดังกล่าว โดยสำนวนปัจจุบัน เราจะเห็นว่า อาเรสคือ เทพอันธพาลของกรีก
             อาเรสเป็นโอรสขององค์เทพซูสกับฮีร่าเทวี และทรงเป็นโอรสที่เทพบิดาซูสตรัสใส่หน้าเลยว่า "เจ้าเป็นที่น่าชังที่ สุดในบรรดาลูกของข้า ทั้งโหดร้าย ดื้อด้านเหมือนแม่เจ้าไม่ผิด!" ซึ่งวาทะประโยคนี้นับว่าวิจารณ์อุปนิสัยใจคอของ อาเรสได้ตรงเป็นที่สุด นอกจากโหดร้ายและดื้อดึง อาเรสยังบุ่มบ่าม โกรธง่าย และนิยมความรุนแรงมาก นับว่าเป็นอุปนิสัยที่ แตกต่างกับเจ้าแม่เอเธน่า มากซึ่งเป็นเทวีแห่งสงครามเหมือนกัน เอเธน่านั้นสุขุม เฉลียวฉลาดและกล้าหาญ จึงได้รับการ ยกย่องทั่วทุกหนแห่ง เป็นเหตุให้อาเรสเกิดจิตริษยาเอามาก เป็นดั่งว่า "ฟ้าให้อาเรสเกิดแล้วไฉนให้เอเธน่ามาเกิดอีกเล่า" เวลาพบกันทีไรจึงมักมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันเป็นประจำ มีครั้งสำคัญอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อไปพบกันกลางทางและมีเรื่องทะเลาะกัน อย่างเคย เทพอาเรสเกิดบันดาลโทสะ จึงขว้างจักรอันเรืองฤทธิ์แรงกล้าพอ ๆ กับอสนีบาตขององค์ซูสเทพบิดา เข้า ใส่เอเธน่า เจ้าแม่เอี้ยวหลบแล้วทรงยกเอาหินที่วางอยู่แถว ๆ นั้นขึ้นทุ่มตอบกลับไป หินก้อนนั้นมิใช่หินธรรมดา แต่เป็นหินที่ตั้งไว้เพื่อ แสดงเขตแดนของนคร หินนั้นกระทบถูกอาเรสเข้าให้ถึงกับทรุดลงกองกับพื้น ก่อนที่เทวีเอเธน่าจะกลับไปเจ้าแม่ยังกล่าวเยาะ ให้เจ็บใจเล่นด้วยว่า "เจ้างั่ง! เพียงแค่นี้ เจ้าก็เดาได้แล้วใช่ไหมว่าเรี่ยวแรงของเรามากขนาดไหน อย่าแหยมมารบกวน เราอีกต่อไปเลย!"  
             เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับอาเรสองค์นี้ คือในฐานะที่เป็นเทพแห่งสงคราม ตามปกติหากรบที่ไหนต้องมีชัยที่นั่น แต่ผิดถนัดสำหรับเทพองค์นี้ หากว่าอาเรส รบที่ไหนปราชัยที่นั่นมากกว่า จนน่าประหลาดใจ นอกจากจะพ่ายแพ้แก่เทวีเอเธน่าแล้ว ยังแพ้มนุษย์อีกด้วย อาทิเช่น วีรบุรุษเฮอร์คิวลิส เคยสังหารโอรสของอาเรสมาแล้ว ครั้นผู้เป็นพ่อเข้าช่วยลูก ก็ถูกต่อยตีจนต้องหลบหนีขึ้นไปบนโอลิมปัสแทบไม่ทัน เมื่อนำเรื่องทูลฟ้องซูสเทพบดี ไท้เธอก็ตัดสินไกล่เกลี่ยให้เลิกรากันไป เนื่องจากแท้ที่จริง เฮอร์คิวลิสก็เป็นโอรสของไท้เธอเช่นเดียวกัน เพียงแต่มีมารดาเป็นมนุษย์สามัญ
             เทพอาเรสมักเสด็จไปไหน ๆ โดยรถศึกเทียมม้าฝีเท้าจัดมากมาย แสงเกราะและแสงศาตราวุธของเธอส่องแสงเจิดจ้าบาดตาผู้พบเห็น มีบริวารที่ติดสอยห้อยตามอยู่ 2 คนคือ เดมอส (Deimos) ซึ่งแปลว่าความกลัว กับ โฟบอส (Phobos) แปลว่าความน่าสยองขวัญ บริวารนี้บางตำนานกล่าวว่าเป็นโอรสของเทพอาเรส ในทาง ดาราศาสตร์เมื่อตั้งชื่อดาวอังคารว่า มาร์ส ตามชื่อเทพแห่งสงครามแล้ว ก็เลยตั้งชื่อดวงจันทร์บริวารทั้งสองของดาวอังคารว่า เดมอสกับโฟบอสตามตำนานไปด้วยเลย
             ในด้านความรักของอาเรสนั้นเร่รักไปเรื่อยเช่นเดียวกับเทพบุตรอื่น ๆ ในโอลิมปัส ไม่ได้ยกย่องใครเป็นชายา แต่มีเรื่องรักสำคัญของอาเรสอยู่ครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้น ได้แก่การลักลอบเป็นชู้กับเทวีแห่งความงามและความรักนาม อโฟรไดท์
             เมื่ออาเรสเป็นที่เกลียดชังของเทพและมนุษย์ (ชาวกรีก) เช่นนั้นพฤติการณ์ของเธอตอนเป็นชู้กับเทวี อโฟรไดท์จึงเป็นที่ครหารุนแรงและมวลเทพก็คอยจ้องจับผิดก็เพราะความมืดของราตรีกาลเป็นใจ ตราบใดเธอ หลบไปได้ก่อนดวงอาทิตย์ของอพอลโลไขแสง หากยังจับไม่ได้คาหนังคาเขา ตราบนั้นพฤติการณ์ของเธอก็ยังคง เป็นความลับ เธอเกรงกลัวอยู่ก็แต่แสงสว่าง ซึ่งเปรียบประดุจนักสืบของเทพอพอลโลเท่านั้น ถ้านักสืบนั้นแฉ พฤติการณ์ของเธอให้ประจักษ์แก่เทพอพอลโลแล้ว เทพอพอลโลก็คงจะนำความไปบอกแก่เทพฮีฟีสทัส ถึงกรณี ที่เธอลักลอบกับเทวีอโฟรไดท์เธอจึงวางยามไว้คนหนึ่งให้คอยปลุกเมื่อใกล้รุ่ง ผู้ทำหน้าที่นี้คือ หนุ่มน้อยชื่อว่า อเล็กไทรออน (Alectryon) 
             ในคราวที่ความจะแตก อเล็กไทรออนหลับยามเพลินไปจนรุ่งเช้าเป็นเหตุให้อพอลโลเห็นอาเรสกับอโฟรไดท์นิทรา หลับอยู่ด้วยกัน อพอลโลจึงนำความไปบอกแก่เทพฮีฟีสทัส ฮีฟีสทัสสานร่างแหเหล็กเตรียมไว้ก่อนแล้ว พอได้ความดังนั้นก็หอบ ร่างแหไปทอดครอบอาเรสกับอโฟรไดท์ไว้ให้เทพทั้งปวงมาดูและหัวเราะเยาะอย่างครื้นเครง แล้วจึงปล่อยไป ฝ่ายอาเรสได้รับ ความอัปยศอดสูท่ามกลางธารกำนัลยิ่งนัก จึงสาปอเล็กไทรออนให้กลายเป็นไก่ ทำหน้า ที่คอยขันยามในเวลาใกล้รุ่งทุกคืน เป็นการลงโทษในการที่หลับยาม
             ด้วยเหตุนี้ไก่ผู้ทุกตัวที่เกิดขึ้นในโลก จึงสืบสกุลมาจากไก่อเล็กไทรออนตัวแรกนั้นทั้งสิ้น
              และผลของการอภิรมย์ของคู่นี้ ทำให้เทวีอโฟร์ไดท์ ประสูติธิดาออกมาองค์หนึ่งนามว่า อาร์โมเนีย ซึ่งต่อมาได้ เป็นราชินีแห่งนครธีบส์


เทพอพอลโล เทพแห่งการทำนาย

อพอลโล (Apollo) เทพคู่แฝดผู้น้องของเทวีอาร์เตมิส คือเทพครองดวงอาทิตย์ ซึ่งภายหลังชาวกรีกและโรมันถือว่า เป็นดวงอาทิตย์ทีเดียว เหมือนอย่างที่ถืออาร์เตมิสเป็นดวงจันทร์ฉันนั้น
ในชั้นดั้งเดิมสุริยเทพของกรีกคือ ฮีลิออส(Helios) ซึ่งเป็นบุตรของโอเพอร์เรียน (Hyperion) ในคณะเทพไทแทน แต่เมื่อคณะเทพไทแทนสิ้นอำนาจ ชาวกรีกจึงนับถือเทพ อพอลโลแทนสืบต่อมา เมื่อนาง แลโตนา มารดาของอพอลโล ถูกกระทำด้วยความหึงของเจ้า แม่ฮีรา เพราะเหตุเป็นที่ปฏิพัทธ์เสน่หาของ ซูส ต้องอุ้มครรภ์ หนีงู ไพธอน (Python) ของเจ้าแม่ ซอกซอนไปไม่มีที่จะให้ประสูติบุตรในครรภ์ได้จน ถึงเกาะดีลอส (Delos) เทพโปเซดอน มี ความสงสารบันดาลให้เกาะน้อยผุดขึ้นในทะเล นางจึงให้ประสูติอพอลโลกับอาร์เตมิส บนเกาะ นั้น ในทันทีที่ประสูติจากครรภ์มารดา อพอลโลก็จับงูไพธอนฆ่าเสีย ด้วยเหตุนี้ บางทีอพอลโลก็เป็นที่เรียก ขานว่า ไพธูส (Pytheus) แปลว่า "ผู้ประหารไพธอน" นอกจากนี้อพอลโลยังมีชื่ออื่น ๆ อีกหลายชื่อ มีชื่อตาม สถานที่เกิดว่า ดีเลียน (Felian) ฟีบัส (Phoebus) แปลว่า "โอภาส" หรือ "ส่องแสง" เป็นอาทิ ชื่อหลังนี้มัก ใช้บวกกับชื่อประจำว่า ฟีบัส อพอลโล เนือง ๆ
เมื่อให้ประสูติบุตรแล้ว นางแลโตนาก็ยังไม่พ้นการรังควานของเจ้าแม่ฮีรา ต้องดั้นด้นเซซังต่อไปจนถึงแคว้น เคเรีย (Caria) ซึ่งอยู่ ในเอเซียไมเนอร์ปัจจุบันนี้ นางจำเป็นต้องหยุดพัก ณ ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งด้วยโรยกำลัง และขอดื่มน้ำจาก พวกชาวบ้าน ที่ออกมาถอนหญ้า คาอยู่ในบริเวณนั้น พวกชาวบ้านแทนที่จะสมเพชสงสารกลับ ไล่ตะเพิดและด่าทอนางด้วยคำ หยาบช้า ทำให้ซูสเทพบดีกริ้วจัดนัก ถึงแก่ สาปชาวบ้านเหล่านั้นให้กลายเป็นกบไปทั้งหมด ตำนานเรื่องนี้เห็นจะแสดงว่าใน ละแวกนั้นมีกบ ชุม และกบปัจจุบันอาจสืบเชื้อสายจากชาว บ้านที่ถูกสาปเหล่านั้นก็เป็นได้
อพอลโลเป็นเทพที่ชาวกรีกถือว่ามีรูปงามยิ่ง และเป็นนักดนตรีผู้ขับกล่อมเทพทั้งปวงบนเขาโอลิมปัส ด้วยพิณถือของเธอ นอกจากนี้เธอยังมีคันธนูซึ่งยิงได้ไกล จึงได้สมญานามว่า เทพขมังธนู ใช่แต่เท่านั้นเมื่อไร เธอยังเป็นเทพผู้ถ่ายวิชาโรคศิลป์ ให้แก่มนุษย์เป็นปฐม เป็นเทพแห่งแสงสว่างผู้ขจัดความมืดและเป็นเทพแห่ง สัจธรรมผู้ไม่เคยเอ่ยวาจาเท็จอีกด้วย
วิหารของเทพอพอลโลนั้น มีอยู่ดาษดื่นทั่วไปในประเทศแต่ที่สำคัญที่สุดได้แก่วิหาร ณ เมืองเดลฟี ใกล้ทิวเขาพาร์นาซัส รูปอนุสาวรีย์ โคลอสซัส (Colosus) ที่เขาสร้างอุทิศแด่เธอ ณ เกาะ โรดส์ (Rhodes) นั้นเป็นสิ่งหนึ่งในสิ่งอัศจรรย์ทั้ง 7 ของโลกสมัยโบราณทีเดียว
เทพอพอลโลได้สำแดงวีรกรรมสังหารผลาญชีวิตคนพาลมากมาย นอกจากเคยฆ่างู ยักษ์ไพธอนจนมีชื่อ เสียงมหาศาลแล้ว ยังสามารถสังหารยักษ์ อโลอาดี (Aloadae) และ อีฟิอัลทิส(Ephialtes) ซึ่งเป็นเชื้อสายของ วงศ์ไทแทนคิดล้มซูสเทพบดีเพื่อฟื้นวงศ์ไทแทนคืนมา เป็นต้น แต่มีครั้งหนึ่งที่อพอลโลยังไม่อาจเอาชนะมนุษย์ คนหนึ่งได้จนร้อนถึงไท้เทพซูสต้องออกมาประนีประนอม บุรุษเดินดินคนนั้นนามว่า เฮอร์คิวลิส หรือ เฮลาคลิสนั่นเอง เหตุเกิดเพราะเฮอร์คิวลิสไปขอคำพยากรณ์ที่วิหารเดลฟีแล้ว ได้รับคำทำนายไม่ถูกใจ จึงล้มโต๊ะ พิธีใน วิหารแล้วฉวยเอากระถางธูปไป เทพอพอลโลรีบรุดตามไปท้าเล่นมวยปล้ำเพื่อชิงเอากระถางคืน ปล้ำกันอยู่ นานไม่อาจรู้แพ้ชนะ ชะรอยซูสเห็น ท่าว่าขืนปล่อยไว้นานอพอลโลอาจจะเสียเปรียบพ่ายแพ้แก่มนุษย์เข้าได้ และ อาจเสียหน้าวงศ์เทพแน่ จึงเสด็จลงไปห้ามปรามให้เลิกราต่อกัน ขอให้เฮอร์คิวลิสคืนกระถางธูปแก่อพอลโล แล้วให้ เลิกราเรื่องบาดหมางต่อกัน เรื่องราวก็เลยจบลงด้วยดี
เทพอพอลโลมีอุปนิสัยไม่ยอมแพ้ใครอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากที่ไปแข่งเป่าขลุ่ยกับมาไซยาส์ซึ่งเป็นเทพชั้นรอง แล้วตั้งกรรมการตัดสินว่าผู้ใดเป่าเก่งกว่ากัน พระเจ้าไมดาส (Midas องค์ที่จับอะไรก็กลายเป็นทอง) เกิดตัดสินเข้าข้างมาไซยาส์ เพียงเท่านี้ อพอลโลก็ไม่ฟังอะไรอีก จึงสาปให้ไมดาสมีหูเป็นลาไปทันที
ตามเรื่องต่าง ๆ ที่เธอมีบทบาทอยู่ อพอลโลดูจะเป็นเทพใจสูงกว่าองค์อื่น ๆ แต่ถึงกระนั้นก็มีอยู่ 2-3 เรื่อง ที่แสดงให้เห็นความโหดเหี้ยมดุร้ายของเธอดังเราจะเห็น จากเรื่องต่อไปนี้
การลงโทษนางไนโอบี
เทพอพอลโลกับเทวีอาร์เตมิสเป็นที่สวาสดิ์ภาคภูมิใจของมารดายิ่งนัก นางถึงแก่โอ้อวดคุยฟุ้งเฟื่องไปไกลว่าจะหาบุตรใครเสมอบุตรของนางเห็นจะไม่มีอีกแล้ว ไม่ว่าจะเปรียบกันในเชิงสิริรูป สติปัญญา หรือพลังอำนาจ ก็ต้องแพ้บุตรของนางหลุดลุ่ย ความนี้เลื่องลือไปถึงนาง ไนโอบี (Niobe) ซึ่งเป็นธิดาของท้าว แทนทะลัส (Tantalus) และมเหสีเจ้ากรุง ธีบส์ (Thebes) นางไนโอบีกลับหัวเราะเยาะและค่อนว่า นางแลโตยามีลูกจะอวดกับเขาแต่เพียง 2 เท่านี้หรือ ส่วนนางเองสิมีถึง 14 เป็นชาย 7 ล้วนแต่มีรูปกำยำงามสง่า และเป็นหญิงล้วนแต่ทรงโฉมวิลาสวิไลถึง 7
นางไนโอบีลั่นวาจาก้าวร้าวสบประมาทนางแลโตนาอีกเป็นอันมาก ซ้ำยังกำเริบเสิบสานถึงแก่ห้ามชาวเมือง ของนางกระทำบูชาเทพอพอลโลและเทวีอาร์เตมิส แถมบังอาจสั่งให้ทำลายรูปเคารพเทพและเทวีคู่นี้จากแท่นที่บูชา ในอาณาจักรของนางอีกด้วย นางแลโตนาโกรธแค้นหนักหนาในการที่ถูกหยามหยาบถึงเพียงนี้ จึงเรียกบุตรและ ธิดาเคียงข้าง และสั่งให้ออกตามฆ่าบุตรและธิดาของนางไนโอบีเสียให้สิ้น
เทพบุตรเทพธิดาคู่แฝดอยู่ในอารมณ์ขึ้งเคียดเต็มที่ จึงขมีขมันออกไปตามคำสั่งทันที อพอลโลพบมานพทั้ง 7 ออกล่าสัตว์ จึงประหารเสียด้วยลูกธนูตายหมดทั้ง 7 คน เมื่อข่าวการตายของบุตรรู้ไปถึงนางไนโอบี นางก็โศกเศร้า โทมนัสนัก ฝ่ายเจ้ากรุงธีบส์สวามีก็ทำลายตัวเองสิ้นไปด้วยอีกคนหนึ่ง ยังเหลือธิดาทั้ง 7 ยังไม่ทันที่มารดาจะวายโศก ก็ถูกเทวีอาร์เตมิสจองประหารอีก
มิใยสาวผู้ถึงฆาตทั้ง 7 จะพยายามหนีให้พ้นลูกธนูของเจ้าแม่แห่งนายพรานอย่างไร ๆ ก็ไม่สำเร็จ แม้นาง ไนโอบีจะพยายามปกป้องลูก และอ้อนวอนขอความอารักขาคุ้มครองจากทวยเทพบนเขาโอลิมปัสสักเท่าใดก็ไม่เป็น ผล ธิดาของนางต้องศรล้มกลิ้งตายกันระเนระนาด ที่สุดจนนางที่ซุกอยู่ระหว่างอุระของมารดา เทวีอาร์เตมิสผู้อาฆาตก็ไม่ละเว้น ลูกธนูของเจ้าแม่แล่นเข้าเป้าเสียบนางนั้น ให้วายชีวิตไปแทบอุระของมารดาจนได้
นางไนโอบีสูญสิ้นทั้งสามีและบุตรธิดาที่มาดหมายเหลือแต่นางเดียวดายถึงไม่ตายก็เหมือนตาย ความเศร้ารันทดหนุนเนื่องประดังขึ้นมาแน่นอุระ นางก็แข็งชาไปทั้ง ร่างกาย มิอาจจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ อนิจจา! ร่างของนางกลายเป็นหินตื้อตันไปหมด คงอยู่แต่หยาดน้ำตารินไม่สิ้นสุด แต่วันนั้นมาจนวันนี้ น้ำตานางจะหยุดไหลก็หา ไม่ ส่วนรูปหินของนางไนโอบีก็ยังปรากฏอยู่บนเขา ไซปิลัส (Sipylus) จนตราบเท่าทุกวันนี้
นักเทพปกรณัมวิทยาเขาว่ากันว่า เรื่องนี้ก็คือ ตำนานเปรียบเทียบถึงอำนาจของแสงอาทิตย์เมื่อสิ้นฤดูหนาว ซึ่งนางไนโอบีนั้นหมายถึงฤดูหนาว บุตรทั้ง 7 คือระยะ กาลแห่งความหนาว และลูกธนูของอพอลโลก็คือแสงอาทิตย์
อพอลโลถูกเนรเทศ
เมื่อยังเยาว์อพอลโลเที่ยวไปตามแว่นแคว้นต่าง ๆ ทางทิศเหนือของประเทศกรีซ มีดินแดนของชนชาติไฮเพอร์โบเรียนและแคว้นเธสสะลีเป็นต้น เธอเที่ยวผูก สมัครรักใคร่หญิงทั่วไปตามวิสัยหนุ่มรุ่น ในแคว้นเธสสะลีมีสาวเจ้าคนหนึ่งงามนัก ชื่อว่า โครอนนิส (Coronis) เป็นธิดาเจ้าแห่งแคว้นนั้น อพอลโลผูกสมัครรักใคร่ได้ เสียกับนางจนเกิดบุตรด้วยกันคนหนึ่ง แต่นางกลับปรากฏว่าเป็นหญิงหลายใจ
ในระหว่างที่นางมีครรภ์ อพอลโลให้นกดุเหว่าขนขาวปลอดตัวหนึ่งเฝ้านางไว้ เมื่อนางคบชู้ นกก็ไปบอกข่าวแก่เทพผู้เป็นนาย อพอลโลบันดาลโทสะ พลอยสาปนกซึ่ง บอกข่าวอัปมงคลให้กลับมีขนสีดำไป ดังนั้นนกดุเหว่าจึงมีขนสีดำตั้งแต่นั้นมา ส่วนนางโครอนนิสถูกฆ่า ว่ากันว่าด้วยน้ำมือของเทพอพอลโลเองบ้าง ด้วยคมศรของเจ้าแม่ อาร์เตมิสบ้าง แต่บุตรในครรภ์ซึ่งจวนจะครบกำหนดคลอดนั้นรอดตาย ด้วยอพอลโล(บ้างก็ว่าเฮอร์มีส) เอาออกจากครรภ์ ตอนเผาศพนางโครอนนิส แล้วมอบให้แก่ ไครอน (Chiron) ผู้มีชาติเป็นอมนุษย์ เซนทอร์ (Centaur) เป็นผู้เลี้ยงดู ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้
ไครอนนี้เป็นอาจารย์ผู้ปราดเปรื่อง เชี่ยวชาญในวิชาการต่าง ๆ มีวิชาดนตรี เภสัชกรรมวิทยา และวิชาธนูศิลป์ เป็นต้น เป็นที่นับถือของชาวกรีกโบราณว่า เป็นผู้ สอนมนุษย์ให้รู้จักใช้พืชสมุนไพรทำยา และเป็นอาจารย์ของวีรบุรุษคนสำคัญ ๆ ในเทพปกรณัมมากมาย เช่น อคิลีส, เฮอร์คิวลีส, เยสัน, พีลูส, อีเนียส และคนอื่น ๆ อีก ในตอนปลายอายุถูกเฮอร์คิวลีสยิงด้วยธนูอาบยาพิษ โดยความสำคัญผิดของเฮอร์คิวลีสในระหว่างที่ตามล้างเซนทอร์พวกหนึ่ง แม้เฮอร์คิวลิสจะช่วยแก้ไขให้รอดตาย และ ไครอนแม้จะเป็นหมออยู่กับตัว แต่ก็ไม่สามารถถอนพิษยาได้ พิษยาบันดาลให้ไครอนเจ็บปวดรวดร้าวนักหนา ซูสเทพบดีจึงโปรดให้กลายเป็นดาวอยู่ในกลุ่มดาวชื่อ แซชจิเตริอัส (Sagitarius)
บุตรของเทพอพอลโล ที่อาจารย์ไครอนรับฝากไว้นั้นได้ขนานชื่อว่า เอสคิวเลปิอัส (Aesculapius) เป็นเด็กฉลาดเฉลียวมีความเข้าใจแตกฉานและเป็น ที่รักของอาจารย์อย่างยิ่งวิชาที่เขาใส่ใจศึกษาที่สุดได้แก่ โรคศิลป์ เพราะฉะนั้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขี้น เขาจึงกลายเป็นหมอบำบัดโรคผู้มีความสามารถยิ่ง
ความสามารถของเอสคิวเลปิอัสในการบำบัดโรคนั้นยิ่งกว่าของอาจารย์มาก ด้วยที่สามารถบำบัดโรคและความป่วย ไข้ได้ทุกชีวิต ซึ่งไครอนเองทำไม่ได้ ในไม่ช้าชื่อ เสียงของเอสคิวเลปิอัสก็เลื่องลือไปไกล ไม่ว่าใครจะเจ็บไข้ได้ป่วย หนักหนาสาหัส หรือเล็กน้อย ถ้าได้รับการบำบัดจากเขาแล้วก็ทุเลาลงอย่างรวดเร็ว จนกล่าวได้ว่าหายวันหายคืนเลย ทีเดียว ผู้คนพากันไปขอรับการบำบัดโรค ณ สำนักของเขา ทั้งจากใกล้และไกลทุกทิศทาง นับว่าการบำเพ็ญประโยชน์ของ เอสคิวเลปิอัสแผ่ไพศาลยิ่ง ทั้งโดยเนื้อ นาบุญและโดยระยะทาง
ความสามารถของเอสคิวเลปิอัสเป็นที่เลื่องลือไปจนว่ากันว่า ครั้งหนึ่งเขาสามารถแก้คนตายให้ฟื้นได้ อัน เป็นเหตุ ให้เทพปริณายกซูส กับเทพฮาเดส เจ้าแห่งแดนคนตายเดือดร้อน ทั้งริษยาและหวั่นเกรงในอำนาจ บารมีของ เอสคิวเลปิอัส หากปล่อยไว้นานไปเบื้องหน้าจะทำให้มนุษย์กำเริบอีก เห็นว่าจะละไว้มิได้ ซูสจึงประหาร เอสคิวเลปิอัส ด้วยอสนีบาต
เทพอพอลโลบันดาลโทสะกล้าในการตายของบุตร แต่ไม่รู้จะโกรธเอากับเทพบิดาอย่างไร จึงหันไปไล่ เบี้ยเอากับช่างประกอบอสนีบาตถวายซูส คือ เทพฮีฟีสทัส กับยักษ์ไซคลอปส์ เธอน้าวคันธนูเงินมุ่งจะยิงธนู สังหารยักษ์ไซคลอปส์เสียให้สมแค้น แต่ซูสไม่ยอมให้อพอลโลทำเช่นนั้นได้ และเพื่อจะลงโทษบุตรในความ อุกอาจดังนี้ ไท้เธอจึงเนรเทศอพอลโลให้ลงมาอยู่ในมนุษย์โลก และให้เป็นข้าของมนุษย์เป็นเวลา 1 ปีเสียก่อน จึงจะพ้นโทษ



เทพอาร์เทมิส เทพีแห่งดวงจันทร์และการล่าสัตว์



 เทพีอาร์เทมิสยังเป็นจันทราเทพี เทพีผู้ครองช่วงเวลาแห่งราตรีกาลและเทพีผู้ประทานแสงสว่างแก่รัตติกาลอีกด้วย แต่พระเทพียังมีความสามารถที่ดูจะออกแนวบู้ๆคือ การล่าสัตว์ พระเทพีโปรดการล่าสัตว์ พระองค์จะมีคันธนูและลูกศรติดตัวเสมอ แต่พระองค์ถูกนับถือในนาม เทพีผู้คุ้มครองสัตว์ป่าเสียมากกว่า หากใครเข้าไปในเขตป่าของพระองค์โดยยิงหรือจับสัตว์ีป่าที่อยู่ในอาณาเขตของพระองค์ หากพระเทพีทราบเข้าผู้นั้นอาจต้องถูกสังหารถึงฆาตด้วยลูกธนูแห่งเทพีอาร์เทมิส 
    เทพีอาร์เทมิสยังทรงเป็นเทพีผู้ถือพรหมจรรย์เจริญรอยตาม เทพีเฮสเทียและเทพีอธีน่า ด้วยเหตุเพราะพระองค์ทรงเห็นความทุกข์ของเทพีแลโตนาผู้เป็นมารดาที่ต้องลำบากลำบนกับความรักที่มาเป็นพระชายาเทพซีอุึสที่ถูกเทพีเฮร่าตามราวี จึงทำให้พระเทพีมิโปรดและกลัวที่จะออกเรือน จึงปฏิญาณว่าจะไม่ขอมีครอบครัวและจะรักษาพรหมจรรย์ไว้ให้ยิ่งชีพ แต่ก็ยังมีตำนานบางตอนที่กล่าวถึงพระเทพีหลงรักกับบุรุษรูปงาม2คน คือ ไอโอออน  กับ เอนดิเมียน แต่ก็มักจะจบไม่ดีทุกครั้ง เอาไว้จะเล่าในตอนต่อไป ความรักของเทพช่างน่าสงสารจริงๆมักเป็นรักที่จะไม่ค่อยสมหวังเสียจริงๆ 
            ถึงเทพีอาร์เทมิสจะมีรูปโฉมที่งดงาม เป็นที่เคารพในนาม เทพีแห่งแสงจันทร์ก็ตาม แต่มีบางตำนานที่กล่าวว่าพระองค์ทรงโหดเหี้ยมผิดวิสัยแห่งพระเทพี เช่น ตำนานของนายพรานที่น่าสงสารนามว่า "แอคเตียน" ที่บังเอิญหลงทางเข้าไปยังป่าต้องห้ามที่เป็นอาณาเขตที่พำนักแห่งเทพีอาร์เทมิส และบังเอิญยิ่งที่พบเข้ากับเทพีอาร์เทมิสกำลังสรงน้ำอย่างสบายพระทัย โดยมีเหล่านางไม้ค่อยปรมนิบัติอยู่ข้างๆ เจ้านายพรานหนุ่มก็อาจดูไม่ขาดตา ผิวอันขาวนวลดังแสงจันทร์ที่กระจ่าง เส้นผมอันเป็นประกายดั่งทองคำเมื่อต้องแสงอาทิตย์ ถึงแม้นายพรานก็เกรงกลัวในอำนาจแห่งเทพเจ้า แต่ด้วยความราคะก็แอบดูในพุ่มไม้บริเวณที่ใกล้ๆนั้น พระเทพีบังเอิญอีกเหมือนกัน ดันเห็นแสงประกายประหลาดจากพุ้มไม้เห็นว่าผิดสังเกต พระเทพีจึงรับรู้ได้ว่ามีคนกำลังแอบดูพระองค์ พระเทพีจึงพิโรธเป็นอันมาก นายพรานรู้ตัวแล้วว่าพระเทพีรู้ว่าตนแอบดู จึงหมายจะหนี แต่พระเทพีได้ใช้มือตัดน้ำขึ้นและสาดไปเต็มแรง น้ำนั้นกระเด็นไปต้องนายพรานหนุ่ม จากนั้นร่างของนายพรานหนุ่มก็กลายเป็นกวางไป นายพรานในร่างกวางก็วิ่งพยายามขอความช่วยเหลือดันไปพบกับสุนัขล่าเนื้อที่เป็นสุนัขของตนตามไล่กัด คิดว่าเป็นกวางโดยหารู้ไม่ว่ากวางตัวนี้เป็นนายของมัน และนายพรานหนุ่มก็จบชีวิตลงโดยสุนัขล่าเนื้อของตนอย่างน่าอนาถ 
       ยังไม่จบเพียงเรื่องนี้เท่านั้น ยังมีต่อ มีชายหนุ่มนามว่า "แอดมีทัส" เป็นสาวกผู้มีหน้่าที่ถวายเครื่องสักการะแด่เทพีอาร์เทมิส แต่เมื่อเขาได้พบรักหญิงงามและขอเธอเป็นภรรยา เธอยินดีที่จะเป็นภรรยาเขา และเขาก็ปราบปลื้มปิติและวุ่นวายกับการจัดงานแต่งของตน จนลืมหน้าที่ที่จะต้องถวายเครื่องสักการะแด่พระเทพี พระเทพีทราบว่า แอดมีทีสลืมหน้าที่ๆพึ่งกระทำ พระองค์โกรธกริ้วมากจึงเสกให้ห้องหอของแอดมีทีสกัีบเจ้าสาวของเขาเต็มไปด้วยงูพิษ 
            ยังมีเรื่องต่อ พระราชานามว่า "ท้าวโอนีอัส" แห่งเมืองคาลีดอน เกิดลืมการถวายเครื่อสักการะแด่พระเทพี พระเทพีกริ้วอีกแล้วทรงบันดาลให้วัวป่าที่บ้าคลั่งเข้าโจมตีทำลายเมืองคาลีดอน และวัวป่านั้นสังหารเชื้อพระวงศ์และครอบครัวของท้าวโอนีอัสสิ้นพระชนม์สิ้น นี้เป็นการลงโทษอย่างรุนแรงและโหดเหี้ยมจากพระเทพีพระองค์นี้ 
       ยังมีอีก พระเทพีเคยลงทัณฑ์นางไม้ผู้น่าสงสารที่ถูกเทพซีอุสปลุกปล้ำจนได้นางเป็นชายา นางคือ "คัสลิสโต" เทพีอาร์เทมิสอาจจะว่าอะไรเทพซีอุสผู้เป็นบิดาได้ จึงลงมือกับนางไม้คัสลิสโตผู้น่าสงสารโดยสาปในนางกลายเป็นหมีไป แค่นั้นไม่พอ นางคัสลิสโตมีพระโอรสให้เทพซีอุส แต่ไม่ทราบว่าหมีตัวนั้นเป็นพระมารดาจึงสังหารยิงหมีตัวนั้นตายกับหมี มาทราบภายหลังว่าหมีนั้นเป็นพระมารดาที่ถูกเทพีอาร์เทมิสสาป เขาฆ่าแม่ของเขาลงกับมือ และเขาก็ฆ่าตัวเองตายตามผู้เป็นมารดาไป เทพีอาร์เทมิสทราบว่าพระองค์ผิดจึงเนรมิตให้สองแม่ลูกไปเป็นดวงดาวบนท้องฟ้า คือ ดาวหมีเล็ก กับ ดาวหมีใหญ่ 
       เทพีอาร์เทมิส ถึงดูภายนอกของพระองค์จะเป็นเทพีผู้แข็งแกร่ง เพราะทรงโปรดกิจกรรมที่เป็นของบุรุษอย่างการล่าสัตว์ ผิดวิสัยแห่งสตรี พระองค์คงเกิดมาจากอุดมคติแห่งสตรีในสมัยกรีกโบราณที่อย่างจะทำการใดได้เหมือนดั่งบุรุษบ้าง ถึงอย่างไรเทพก็เสมือนเงากระจกที่สะท้อนกลับของมนุษย์นั่นอยู่ดี


เทพเฮอร์เมส เทพแห่งการค้า โจรกรรม และการสื่อสาร

เมอร์คิวรี่ (Mercury) หรือ เฮอร์มีส (Hermes) เป็นเทพบุตรของซูสเทพบดี กับ นางมาย หรือ เมยา (Maia) เป็นเทพที่มีผู้ร้จักมาก เนื่องจากรูปของเธอปรากฏคุ้นตาคนมากกว่าเทพองค์อื่น ๆ คนมักนำรูปเทพองค์นี้ หรืออย่างน้อยก็ของวิเศษอย่างหนึ่งของเธอ คือ เกือกมีปีก มาแสดงเป็นเครื่องหมายถึงความเร็ว นอกจากเกือก หมวกและไม้ถืออันศักดิ์สิทธิ์ของเธอก็มีปีกเหมือนกัน เธอไปได้เร็วยิ่งนัก ถึงแด่ว่ากันว่า "ไปเร็วเพียงความคิด" ทีเดียว
หมวกและเกือกมีปีกของเฮอร์มีสนั้นเรียกว่า เพตตะซัส (Petasus) และ ทะเลเรีย (Talaria) เป็น ของที่ได้รับประทานจากซูสเทพบิดา ซึ่งโปรดให้เธอเป็นเทพพนักงานสื่อสารประจำพระองค์ ส่วนไม้ถือศักดิ์สิทธิ์เรียกว่า กะดูเซียส (Caduceus) เดิมเป็นของเทพอพอลโล เธอใช้ต้อนวัวควายในครอบครอง ครั้งหนึ่งเฮอร์มีสขโมยวัวของ เธอไปซ่อน อพอลโลรู้ระแคะระคายดังนั้นจึงมาทวงถามให้เทพภราดรคืนวัวให้แก่เธอ เฮอร์มีสในตอนนั้นยังเยาว์อยู่แท้ ๆ กลับย้อนถามอย่างหน้าตาเฉยว่า วัวอะไรที่ไหนกัน เธอไม่เคยเห็นและไม่เคยได้ยิน อพอลโลก็ไปฟ้องเทพบิดา ซูส ไกล่เกลี่ยให้เฮอร์มีสคืนวัวให้เจ้าของ อพอลโลได้วัวคืนแล้วก็ไม่ถือเทพผู้น้อง แม้ว่าวัวจะขาดจำนวนไป 2 ตัว เพราะ เฮอร์มีสเอาไปทำเครื่องสังเวยเสียแล้วก็ตาม เธอเห็นเฮอร์มีสมีพิณถือคันหนึ่งเรียกว่า ไลร์ (lyre) เป็นของเฮอร์มีส ประดิษฐ์ขึ้นเองด้วยกระดองเต่าก็อยากได้ จึงเอาไม้กะดูเซียสแลก ไม้ถือกะดูเซียสจึงเป็นของเฮอร์มีสด้วยเหตุฉะนี้ และถือ กันว่าเป็นสัญลักษณ์ของเฮอร์มีสแต่ครั้งนั้น
 ไม้กะดูเซียสนี้แต่เดิมเป็นไม้ถือมีปีกลุ่น ๆ ต่อมาเฮอร์มีสถือไปพบงู 2 ตัวกำลังต่อสู้กัน เธอเอาไม้ทิ่มเข้าในระหว่างกลางเพื่อห้าม ความวิวาท งูก็เลื้อยขึ้นมาพันอยู่กับไม้ โดยหันหัวเข้าหากัน ตั้งแต่นั้นมางูนี้ก็พันอยู่กับไม้ถือกะดูเซียสตลอดมา และไม้ถือกะดูเซียสก็ กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นกลางด้วย ภายหลังได้ใช้เป็นสัญลักษณ์ของการแพทย์มาจนบัดนี้
เฮอร์มีสไม่แต่จะเป็นเทพพนักงานสื่อสารของซูสเท่านั้น หากยังเป็นเทพครองการเดินทาง การพาณิชย์ และตลาด เป็นที่บูชาของพวกหัวขโมย และมีหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์คอยนำวิญญาณคนตายไปสู่ยมโลกด้วยจนได้รับนามกร อีกชื่อหนึ่งว่า เฮอร์มีสไซโคปอมปัส (Hermes Psychopompus) สรุปว่าการสื่อสารและการเป็นคนกลางใน กิจการทุกอย่างตกเป็นภาระของเธอ หรืออยู่ในความสอดส่องของเธอทั้งสิ้น ส่วนการที่เธอเป็นที่นับถือบูชาของพวกขโมยก็คง เนื่องจากขโมยวัวของอพอลโลที่เล่ามาแล้วนั่นเอง
สิ่งที่น่าแปลกประการหนึ่งในตัวของเฮอร์มีสก็คือ แม้ว่าเธอจะเป็นโอรสของซูสเทพบดีกับนาง เมยา (Maia) ซึ่ง เป็นอนุ แต่ทว่าทรงเป็นโอรสองค์เดียวของซูสที่ราชินีขี้หึงเทวีฮีร่าไม่เกลียดชัง กลับเรียกหาให้เฮอร์มีสอยู่ใกล้ ๆ ด้วยเสีย อีก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะบุคลิกและนิสัยของเทพเฮอร์มีส ที่ชอบช่วยเหลือทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทวยเทพด้วยกัน หรือมนุษย์ ธรรมดา อาทิเช่น ช่วยปราบยักษ์ร้ายฮิปโปไลตุล ช่วยองค์ซูสเทพบิดาให้พ้นจากพันธนาการของยักษ์ไทฟีอัส ช่วยอนุองค์ หนึ่งของเทพบิดา คือนางไอโอให้รอดตายด้วยการสังหารอาร์กัส อสูรพันตาของเจ้าแม่ฮีร่า และช่วยเหลือเลี้ยงดูไดโอนิซัส ในยามแรกถือกำเนิดขึ้นอีกด้วย ในด้านของมนุษย์นั้น เฮอร์มีสเคยช่วยเปอร์ซีอุสสังหารนางการ์กอนเทดูซ่า ช่วย เฮอร์คิวลิสในยามเดินทางสู่แดนบาดาล ช่วยโอดีสซีอัสให้รอดพ้นเงื้อมมือนางเซอร์ซี และช่วยให้เตเลมาดุสตามหาพ่อจน พบ เป็นต้น
เฮอร์มีสก็เช่นเดียวกับเทพบุตรองค์อื่น ๆ ตรงที่ไม่ยกย่องเทวีหรือสตรีนางใดเป็นชายา แต่สมัครรักใคร่ไปเรื่อย ๆ นับไม่ถ้วน ว่ากันว่าการที่เธอชอบเสด็จลงไป ในแดนบาดาลบ่อย ๆ นั้นเป็นเพราะหลงเสน่ห์ของเทวีเพอร์เซโฟนีผู้เป็นชายา ของฮาเดส จ้าวแดนบาดาล ยามขึ้นมาสู่ผืนดินเฮอร์มีสก็รักกับสตรีมนุษย์มากหน้า ที่เป็นที่ กล่าวขานได้แก่ อคาคัลลิส (Acacallis) ผู้เป็นธิดาของท้าวไมนอส แห่งครีต เมื่อขึ้นไปสู่สวรรค์โอลิมปัสก็เกิดจิตพิศวาส กับเทวีในทำนองรักข้ามรุ่น โดยเฉพาะกับ เฮเคตี และอโฟร์ไดที่เทวี


เทพอาธีนา เทพีแห่งความเฉลียวฉลาด

ในคณะเทพโอลิมเปียนมีเทพีพรหมจารีอยู่ 3 องค์ ทรงนามตามลำดับว่า เฮสเทีย (Hestia) เอเธน่า (Athene) อาร์เตมิส (Artemis) องค์แรกเป็นเทพีภคินีของเทพปริณายกซูส ส่วน 2 องค์หลังเป็นธิดา แต่ละองค์มีประวัติและความสำคัญดังจะกล่าวต่อไปนี้
             อันเทวดาของกรีกนั้นถึงแม้ไม่ตายก็หาความรู้สึกเจ็บปวดในกายองค์ไม่ การถือกำเนิดของเอเธน่านั้น กล่าวกันว่า ครั้งหนึ่ง ซูส เทพบดีได้รับคำทำนายว่า โอรสธิดาที่ประสูติแต่มเหสีเจ้าปัญญานาม มีทิส (Metis) นั้นจะ มาโค่นบัลลังก์ ของพระองค์ ไท้เธอก็แก้ปัญหาด้วยการจับเอามีทิสซึ่งทรงตั้งครรภ์แก่นั้นกลืนเข้าไปในท้อง แต่เวลาไม่ นานนัก เทพปริณายกซูสบังเกิดอาการปวดเศียรขึ้นมา ให้รู้สีกปวดร้าวเป็นกำลัง ไท้เธอจึงมีเทวโองการสั่งให้เรียก ประชุมเทพ ทั้งปวงบนเขาโอลิมปัส ให้ช่วยกันหาทางบำบัดเยียวยา แต่ความอุสาหพยายามของทวยเทพก็ไม่เผล็ดผล ซูส ไม่อาจทนความ เจ็บปวดต่อไปได้ ในที่สุดจึงมีเทวบัญชาสั่งโอรสองค์หนึ่งของไท้เธอ คือ ฮีฟีสทัส (Hephaestus) หรือ วัลแคน (Vulcan) ให้ใช้ขวานแล่งเศียรของไท้เธอออก เทพฮีฟีสทัสปฏิบัติตาม เอาขวานจามลงไป ยังไม่ทัน เศียรซูสจะแยกดี เทพีเอเธน่าก็ผุด ขึ้นมาจากเศียรเทพบิดา ในลักษณะเจริญวัยเต็มที่แต่งฉลององค์หุ้มเกราะแวววาว พร้อมสรรพ ถือหอกเป็นอาวุธ และประกาศ ชัยชนะเป็นลำนำกัมปนาทเป็นที่พิศวงหวั่นหวาดแก่ทวยเทพเป็นที่สุด พร้อมกันนั้นทั่วพื้นพสุธาและมหาสมุทร ก็บังเกิด อาการสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นอย่างใหญ่ ประกาศกำเนิดเทพีองค์นี้สนั่นไป ทั้งโลก
             การอุบัติของเทพีองค์นี้ถือว่าเป็นไปเพื่อยังสันติสุขให้บังเกิดในโลกและขจัดความโฉดเขลาที่ครองโลกจนตราบ เท่าบัดนั้นให้สิ้นไป ด้วยว่าพอเจ้าแม่ผุดจากเศียรซูส เทพีแห่งความโฉดเขลาซึ่งไม่ปรากฏรูป ก็ล่าหนีให้เจ้าแม่เข้า ครองแทนที่ ด้วยเหตุนี้เทพีเอเธน่าจึงเป็นที่นับถือบูชาในฐานะเทพีครองปัญญา นอกจากนั้น เจ้าแม่ยังมีฝีมือในการ เย็บปักถักร้อย และการยุทธศิลปป้องกันบ้านเมือง 
              ภายหลังการอุบัติของเจ้าแม่เอเธน่าไม่นาน มีหัวหน้าชนชาวฟีนิเชียคนหนึ่งชื่อว่า ซีครอบส์ (Cecrop) พาบริษัทบริวาร อพยพเข้าไปในประเทศกรีซเลือก ได้ชัยภูมิอันตระการตาแห่งหนึ่งในแคว้น อัตติกะ (Attica) ตั้งภูมิลำเนาก่อสร้างบ้านเรือน ขึ้นเป็นนครอันสวยงามนครหนึ่ง เทพทั้งปวงเฝ้าดูงานสร้างเมืองนี้ด้วยความ เลื่อมใสยิ่ง ในที่สุดเมื่อเห็นว่าเมืองมีเค้าจะกลาย เป็นนครอันน่าอยู่ขึ้นมาแล้ว เทพแต่ละองค์ต่างก็แสดงความปรารถนาใคร่จะได้เอกสิทธิ์ประสาทชื่อนคร จึงประชุมกันถกถึงเรื่องนี้ เมื่อมีการอภิปรายโต้แย้งกันพอสมควรแล้ว เทพส่วนใหญ่ในที่ประชุมก็พากันยอมสละสิทธิ์ คงเหลือแต่เทพโปเซดอนและเทพีเอเธน่า 2 องค์เท่านั้นยังแก่งแย่งกันอยู่
             เพื่อยุติปัญหาว่าใครควรจะได้เอกสิทธิ์ประสาทชื่อนคร เทพปริณายกซูสไม่พึงประสงค์จะชี้ขาดโดยอำนาจตุลาการที่ไท้เธอ จะพึงใช้ได้ด้วยเกรงว่าจะเป็นที่ครหาว่าเข้า ข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไท้เธอจึงมีเทวโองการว่านครนั้นพึงอยู่ในความคุ้มครองของเทพ หรือเทพี ซึ่งสามารถเนรมิตของที่มีประโยชน์ที่สุดให้มนุษย์ใช้ได้ และมอบหน้าที่ตัดสิน ชี้ขาดให้แก่ที่ประชุม 
             เทพโปเซดอนเป็นฝ่ายเนรมิตก่อน เธอยกตรีศูลคู่หัตถ์ขึ้นกระแทกลงกับพื้น บันดาลให้มีม้าลำยองตัวหนึ่งผุดขึ้นท่าม กลางเสียงแสดงความพิศวงและชื่นชมของ เหล่าเทพ เมื่อเทพผู้เนรมิตม้าอธิบายคุณประโยชน์ของม้าให้เป็นที่ตระหนักแก่เทพ ทั้งปวงแล้ว เทพต่างองค์ต่างก็คิดเห็นว่า เทพีเอเธน่าคงไม่สามารถเอาชนะเนปจูนเสีย เป็นแน่แล้ว ถึงกับพากันแย้มศรวลด้วย เสียงอันดังแกมเย้ยหยันเอาเสียด้วย เมื่อเจ้าแม่เอเธน่าเนรมิตต้นมะกอกต้นหนึ่งขึ้นมา แต่ครั้นเจ้าแม่อธิบายถึงคุณประโยชน์ ของต้นมะกอก ที่มนุษย์จะเอาไปใช้ได้นานัปการนับตั้งแต่ใช้เนื้อไม้ ผล กิ่งก้าน ไปจนใบ กับซ้ำว่ามะกอกยังเป็น เครื่องหมายถึงสันติภาพและความรุ่งเรืองวัฒนาอีกด้วย และเพราะฉะนั้นจึงเป็นที่พึงประสงค์ยิ่งกว่าม้า ซึ่งเป็นเครื่องหมายของ สงครามดังนี้ มวลเทพก็เห็นพ้องต้องกันว่า ของที่เจ้าแม่เอเธน่าเนรมิตมีประโยชน์กว่า จึงลงมติตัดสิน ชี้ขาดให้เจ้าแม่เป็นฝ่าย ชนะ
             เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงชัยชนะครังนี้ เจ้าแม่เอเธน่าได้ประสาทชื่อนครนั้น ตามนามของเจ้าแม่เองว่า เอเธนส์ (Athens) และสืบจากนั้นมาชาวกรุงเอเธนส์ก็ นับถือบูชาเจ้าแม่ในฐานะเทพีผู้ปกครองนครของเขาอย่างแน่นแฟ้น
             ตามที่อ่านกันมานั้น เห็นได้ว่าเรื่องนี้ใช่จะแสดงตำนานที่มาของชื่อกรุงเอเธนส์เท่านั้นไม่ หากยังเป็นตำนานกำเนิดของม้าในเทพปกรณัมกรีก และเป็นต้นเรื่อง ของการที่ชาวตะวันตกถือว่า ช่อมะกอกเป็นสัญลักษณ์ของ สันติภาพสืบ ๆ กันมาจนตราบทุกวันนี้ 
             ยังมีอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเทพีเอเธน่า แสดงที่มาหรือกำเนิดของสิ่งธรรมชาติสนองความอยากรู้ของคนโบราณดังจะ เล่าต่อไปนี้
             ในประเทศกรีซสมัยดึกดำบรรพกาลโพ้น มีดรุณีน้อยคนหนึ่งประกอบด้วยรูปโฉมสะคราญตาน่าพิสมัย ยิ่ง จนถึงแก่ว่า ถ้านางไม่มีความหยิ่งผยองในฝีมือทอผ้าและปั่นด้ายเป็นยอดเยี่ยมเสียอย่างเดียวเท่านั้น นางก็ คงจะเป็นที่รักของเทพและ มนุษย์ทั้งมวลอย่างไม่ต้องสงสัย
             แน่งน้อยมีชื่อว่า อาแรคนี (Arachne) ด้วยความลุ่มหลงทะนงตนนางสำคัญว่าไม่มีผู้ใดอีกแล้วจะมี ฝีมือเสมอกับนาง ในที่สุดจึงกำเริบถึงแก่คุยฟุ้งเฟื่องไปว่า ถึงเจ้าแม่เอเธน่าจะลงมาประกวดฝีมือกับเธอ นางก็ ยินดีจะขันสู้ไม่รอช้าเลย นางโอ้อวดดังนี้เนือง ๆ จนเจ้าแม่เอเธน่าสุดแสนจะทนรำคาญต่อไปได้ ต้องลงมาจาก เขาโอลิมปัสเพื่อลงโทษนางอาแรคนีมิให้ ใครเอาเป็นเยี่ยงอย่างสืบไป 
             เจ้าแม่จำแลงองค์เป็นยายแก่ เดินเข้าไปในบ้านของนางอาแรคนี และนั่งลงชวนคุย ชั่วประเดี๋ยว เดียวนางแน่งน้อยก็จับคุยถึงฝีมือตน และเริ่มโวเรื่องจะแข่งขัน ประกวดฝีมือกับเจ้าแม่เอเธน่าอีก เจ้าแม่ ตักเตือนโดยละม่อมให้นางยับยั้งคำไว้เสียบ้าง เกลือกว่าคำของนางซึ่งพูดเอาเองเป็นเหตุให้เทพเจ้าขัดเคืองจะ ทำให้นางเคราะห์ร้าย แต่นางอาแรคนีมีจิตมืดมนมัวเมาไปในความทรนงตนเสียแล้วจนไม่แยแสต่อคำตักเตือน กลับพูดสำทับว่า นางอยากให้เจ้าแม่ได้ยินและลงมาท้าประกวดฝีมือเสียด้วยซ้ำ นางจะได้แสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์เพื่อพิสูจน์ว่า คำกล่าวอ้างของนางเป็นความจริง เพียงใด ไม่ใช่พูดเอาเอง คำหยาบหยามนี้ยั่วโมสะเจ้าแม่ถึงขีดสุด ถึงกับ สำแดงองค์ให้ปรากฏแก่อาแรคนีตามจริงและรับคำท้านั้นทันที
             ทั้ง 2 ฝ่ายจัดแจงตั้งหูก แล้วต่างฝ่ายต่างทอลายผ้าอันงามวิจิตรขึ้น เทพีเอเธน่าเลือกเอาภาพตอนเจ้าแม่แข่งขันกับเทพโปเซดอน ส่วนนางอาแรคนีเลือกเอาภาพซูส ลักพานางยูโรปาเป็นลาย ครั้นทอเสร็จ ต่างฝ่ายต่างเอาลายผ้ามาเทียบเคียงกัน สาวเจ้าอาแรคนีรู้สึกทันทีว่าของนางแพ้หลุดลุ่ย ลายรูปโคโลดแล่นลุยไปในทะเล มีคลื่นซัด สาดออกเป็นฟองฝอยกับนางยูโรปาเกาะเขาอยู่ดูอาการกึ่งยิ้มกึ่งตกใจประกอบด้วยเกศาและผ้าสไบปลิวสยายด้วยแรงลม ไม่สามารถจะเทียบกับลายรูปชมรมทวยเทพพร้อม ด้วยรูปม้าและต้นมะกอกเนรมิต ซึ่งดูประหนึ่งมีชีวิตกระดุกกระดิกได้นั้นเลย อาแรคนีแน่งน้อยเสียใจนัก ทั้งเจ็บทั้งอายในความผิดพลาดของตนไม่อาจทนอยู่ได้ เอาเชือก ผูกคอหมายจะแขวนตัวตาย เจ้าแม่เอเธน่าเห็นนางจะด่วนหนีโทษทัณฑ์ไปดังนั้น จึงรีบแปรเปลี่ยนร่างของนางให้กลายเป็นแมงมุมห้อยโหนโตงเตง กับสาปนางให้ต้องปั่น และทอใยเรื่อยไปไม่มีเวลาหยุด เป็นการเตือนมนุษย์ผู้ทรนงทั้งปวงมิให้หลงไปว่าตนอาจจะเทียมเทพไดเป็นอันขาด
             ตามปกติเทพีเอเธน่าประทับอยู่เคียงข้างซูสเทพบิดามิได้ขาด ด้วยซูสมักจะโปรดหารือฟังความเห็น คำแนะนำอันแยบคายของเจ้าแม่เนือง ๆ ยามมีศึกสงคราม เกิดขึ้นในโลกเจ้าแม่ขอประทานยืมโล่อันพึงสยบสยอนของเทพบิดาสพายลงมาสนับสนุน ฝ่ายที่มีเหตุผลอันชอบธรรมในการสงครามเป็นนิตย์ ดังเช่น สงครามกรุงทรอยอัน ลือลั่นนั้น เอเธน่าก็เข้าร่วมด้วย โดยยืนอยู่ข้างฝ่ายกรีก ในขณะที่เทพองค์อื่น ๆ เช่น เทพีอโฟร์ไดท์กับเทพเอเรสเข้าข้างฝ่ายทรอย เรื่องราวความสามารถในการสงครามของ เทพีเอเธน่า จึงทำให้เจ้าแม่กลายเป็นเทพีอุปถัมภ์ของบรรดานักรบ อีกอย่างหนึ่งด้วย วีรบุรุษคนสำคัญ ๆจะไม่เกิดขึ้น หากขาดความช่วยเหลือของเจ้าแม่ เอเธน่าเคยช่วย เฮอร์คิวลิส ในการทำงาน 12 อย่างตามคำสั่งของเทพีฮีร่า เคยช่วยเปอร์เซอุสสังหารนางการ์กอนเมดูซ่า ช่วยโอดีสซีอุส (หรือยูลิซิส) ให้เดินทางกลับบ้านจากยุทธภูมิทรอย อย่างปลอดภัย กับทั้งยังช่วยเหลือเตเลมาคัส บุตรชายของโอดีสซีอุสให้ตามหาพ่อจนสำเร็จ 
              ชาวกรีกนับถือเจ้าแม่อย่างแพร่หลายอยู่มาก ถึงกับสร้างวิหารและที่บูชาอุทิศถวายเจ้าแม่ไว้ เป็นจำนวนมากนับ ไม่ถ้วน ที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ วิหาร พาร์ธีนอน ณ กรุงเอเธนส์ ซึ่งเดี๋ยวนี้เหลือ แต่ซาก แต่ก็ยังมีเค้าของฝีมือก่อสร้าง อย่างวิจิตรพิสดารปรากฏอยู่ให้เห็น
             นอกจากชื่อเอเธน่าหรือมิเนอร์วาแล้ว ชาวกรีกและโรมันยังรู้จักเจ้าแม่ในชื่ออื่น ๆ อีกหลาย ชื่อ ในจำนวนนี้มี ชื่อที่แพร่หลายกว่าเพื่อนได้แก่ พัลลัส (Pallas) จนบางทีเขาเรียกควบกับชื่อ เดิมว่า พัลลัสเอเธน่า ก็มี ว่ากันว่า มูลเหตุของชื่อนี้สืบเนื่องมาจากพฤติกรรมตอนเจ้าแม่ปราบยักษ์ชื่อ พัลลัส ซึ่งไม่ปรากฏตำนานชัดแจ้ง อาศัยเหตุที่ เจ้าแม่ถลกหนังยักษ์มาคลุมองค์ คนทั้งหลายเลยพลอย เรียกเจ้าแม่ในชื่อของยักษ์นั้นด้วย และเรียกรูปประติมา หรือ อนุสาวรีย์อันเป็นเครื่องหมายถึงเจ้าแม่ ว่า พัลเลเดียม (Palladium) ในที่สุดคำว่า Palladium ก็มีที่ใช้ใน ภาษาอังกฤษถึงภาวะหรือ ปัจจัยที่อำนวยความคุ้มครองหรือความปลอดภัยให้เกิดแก่ชุมชน ทำนอง Palladium ที่ชาวโรมัน อารักขาไว้ในวิหารเวสตาฉะนั้น 
             เกี่ยวกับการครองความบริสุทธิ์ของเจ้าแม่ มีเรื่องเล่าว่า เทพฮีฟีสทัสหมายปองเจ้าแม่ใคร่จะได้วิวาห์ด้วย ได้ทูลขอต่อเทพ บิดา เทพบิดาประทานโปรดอนุญาต แต่ให้ฮีฟีทัสทาบทามความสมัครใจของเจ้าแม่เอาเอง เทพฮีฟีทัส ไปทำรุ่มร่ามเข้าอย่างไรไม่ปรากฏ เจ้าแม่ไม่เออออด้วย ในที่สุดฮีฟีสทัสก็เดินแบบเจ้าชู้ยักษ์ หมายจะรวบรัด ในระหว่างการ ฉุกละหุกอุตลุดนั้นของไม่บริสุทธิ์ของฮีฟีทัสตก ลงมายังพื้นโลก เป็นเหตุให้เกิดทารกผุดขึ้นมาเป็นเพศชาย เจ้าแม่รอดพ้น มลทินแปดเปื้อน แต่รับทารกไว้ในปกครอง เอาทารกบรรจุ หีบให้งูเฝ้า และฝากไว้ให้ลูกสาวท้าวซีครอปส์ดูแล โดยห้ามเด็ดขาด มิให้เปิดหีบดู แต่ลูกสาวท้าวซีครอปส์ไม่เชื่อฟัง พยายามจะเปิดหีบ ครั้นเห็นงูเข้าก็ตกใจวิ่งหนีตกเขาตาย ทารกนั้นได้ขนาน ชื่อว่า อิริคโธเนียส (Erichthonius) และดำรงชีวิตอยู่สืบมาจนภายหลัง ได้ครองกรุงเอเธนส์ ส่วนเจ้าแม่เอเธน่าก็ไม่ได้รับ การเกี้ยวพานของเทพองค์หนึ่งองค์ใดอีกต่อไปตั้งแต่บัดนั้น แม้ว่าจะมีบางตำนาน กล่าวว่าเอเธน่าเคยแอบรักบุรุษรูปงาม คนหนึ่งชื่อว่า เบลเลอโรฟอน จนถึงกับเอาอานม้าทองคำมาให้เขาในความฝัน เนื่องจาก เบลเลอโรฟอนต้องการขี่ม้าวิเศษ เปกาซัส แต่ไม่ปรากฏว่าเจ้าแม่ได้สานเรื่องราวระหว่างเจ้าแม่กับเบลเลอโรฟอนต่อไปแต่อย่างใด แต่ทว่าบุรุษหนุ่มผู้นั้นเสีย อีกที่เกิดตกม้าตายในตอนหลัง  เทพีเอเธน่ามีต้นโอลีฟเป็นพฤกษาประจำตัว และนกฮูกเป็นนกคู่ใจ 


เทพอโฟรไดท์ เทพีแห่งความรักและความงาม

เทวีองค์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์มากที่สุดได้แก่เทวี อโฟรไดที่ (Aphrodite) หรือ วีนัส (Venus) ซึ่งงเป็นเจ้าแม่ครองความรักและความงาม สามารถสะกดเทพและมนุษย์ทั้งปวงให้ลุ่มหลง ทั้งอาจจะลบสติปัญญาของผู้ฉลาดให้ตกอยู่ในความโฉดเขลาไปได้ และเจ้าแม่จะคอยหัวเราะเยาะบรรดาผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความเย้ายวนของเจ้าแม่ร่ำไป

หากจะสืบสาวต้นกำเนิดของอโฟร์ไดที่ อาจต้องสืบสาวไปไกลกว่าตำนานของกรีกเสียอีก เนื่องจากเจ้าแม่มี ต้นกำเนิดมาจากดินแดนซีกโลกตะวันออก ว่ากันว่าเจ้าแม่เป็นเทวีองค์แรกเริ่มของชน ชาติฟีนีเซีย ที่มาตั้งอาณานิคม มากมาย ในดินแดนตะวันออกแถบตะวันออกกลาง ทราบกันมาว่าเจ้าแม่ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเทวีของชาวอัสสิเรีย กับบาบิโลเนีย ที่มีนามว่า อีชตาร์ (Ishtar) และก็ยังเป็น อันหนึ่งอันเดียวกับเทวีของชาวไซโร-ฟีนิเซี่ยน ผู้มีนามกรว่า แอสตาร์เต (Astarte) จึงนับได้ว่าเป็น เทวีที่มีความสำคัญมากมาแต่ดึกดำบรรพ์

ตามมหากาพย์อิเลียดของโฮเมอร์ เทวีอโฟรไดที่เป็นเทพธิดาของซูส เกิดกับนางอัปสร ไดโอนี (Dione) แต่บทกวีนิพนธ์ชั้นหลัง ๆ กล่าวว่า เจ้าแม่ผุดขึ้นจากฟอง ทะเล เนื่องจากคำว่า Aphros อันเป็นที่มาของชื่อเจ้าแม่ใน ภาษากรีกแปลว่า "ฟอง" แหล่งกำเนิดของเจ้าแม่อยู่ในทะเลแถว ๆ เกาะ ไซเธอรา (Cythera) จากนั้น เจ้าแม่ถูก คลื่นซัดไปจนถึงเกาะ ไซพรัส (Cyprus) อาศัยเหตุนี้ เกาะทั้งสองจึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับเจ้าแม่ และบางทีเจ้าแม่ก็มีชื่อเรียกตามชื่อเกาะทั้งสอง นี้ว่า ไซเธอเรีย (Cytherea) และ ไซเพรียน (Cyprian)

ตามเรื่องที่เล่ากันแพร่หลายกล่าวว่า เมื่อเทวีอโฟรไดทีถูกคลื่นซัดไปติด ณ เกาะไซพรัสนั้น ฤดูเทวีผู้รักษาทวาร แห่งเขาโอลิมปัสลงมารับพาเจ้าแม่ขึ้นไปยังเทพสภา เทพทุกคนในที่นั้นต่างตะลึงใน ความงามของเจ้าแม่ และต่างองค์ต่าง ก็อยากได้เจ้าแม่เป็นคู่ครอง แม้แต่ซูสเองก็อยากจะได้ แต่เจ้าแม่ ไม่ยินดีด้วย ไท้เธอจึงโปรดประทานเจ้าแม่ให้แก่ ฮีฟีสทัส (Hephaestus) เทพรูปทรามผู้มีบาทอัน แปเป๋เป็นบำเหน็จรางวัลทดแทนความชอบ ในการที่ฮีฟีสทัส ประกอบอสนียบาตถวายและเป็นการลงโทษ เจ้าแม่ในเหตุที่ไม่ไยดีซูสไปในตัวด้วย

แต่เทพองค์แรกที่เจ้าแม่พิศวาสและร่วมอภิรมย์ด้วยคือ เอรีส (Ares) หรือ มาร์ส (Mars) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการสงคราม เทพบุตรของซูสเทพบดี เกิดกับเจ้าแม่ ฮีรา ได้เป็นชู้สู่หากับเทวี อโฟรไดที่ จนให้ประสูติบุตรสอง ธิดาหนึ่งรวมเป็นวาม มีนามตามลำดับว่า อีรอส (Eros) หรือ คิวพิด (Cupid) แอนติรอส (Anteros) และ เฮอร์ไมโอนี (Hermione) หรือ ฮาร์โมเนีย (Harmonia) นางเฮอร์ไมโอนีนั้นได้วิวาห์กับ แคดมัส (Cadmus) ผู้สร้างเมืองธีบส์ ซึ่งเป็นพี่ของนางยุโรปา ผู้ถูกซูสลักพาไป เป็นคู่ร่วมอภิรมย์ ดังเล่ามาแล้วแต่ต้น

เรื่องราวความรกของเทวีแห่งความงามและความรักอโฟร์ไดที่ไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เจ้าแม่เที่ยวหว่าน เสน่ห์ไปทั่วไม่ว่าเทพหรือมนุษย์ อาทิเช่น การมีจิตปฏิพัทธ์ เสน่หากับเทพเฮอร์มีส จนเกิดมีโอรสองค์หนึ่งนามว่า เฮอร์มาโฟร์ดิทัส (Hermahroditus) ในด้านของมนุษย์เทวีอโฟร์ไดที่ยังเคยแอบไปมีจิตพิศวาสกับบุรุษ เดินดิน เช่น ไปชอบพอกับเจ้าชายชาวโทรยันนามว่า แอนคิซีส (Anchises) จนมีโอรสครึ่งเทพครึ่งมนุษย์ออกมานามว่า เอนิแอส(Aenias) ผู้เป็นต้นตระกลูของ ชาวโรมันทั้งหมด และที่อื้อฉาวฮือฮามากที่สุดได้แก่ การไปแอบรัก สุดหล่อแห่งยุคคือ อโดนิส

ในกาลวันหนึ่ง เจ้าแม่อโฟรไดที่เล่นหัวหยอกเอินอยู่กับอีรอส บังเอิญถูกศรซึ่งอีรอสถืออยู่สะกิดเอาที่อุระ ถึงแม้ว่า จะเป็นแผลเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นการเพียงพอที่จะทำให้เจ้าแม่ตกอยู่ในอำนาจพิษศรของบุตรได้ ยังมิทันที่แผลจะ เหือดหาย เจ้าแม่ได้พบกับ อโดนิส (Adonis) มานพหนุ่มพเนจรอยู่ในราวป่า ให้บังเกิดความพิสมัยจนไม่อาจระงับ ยับยั้งอยู่ใน สวรรค์ได้ เจ้าแม่จึงลงมาจากสวรรค์มาพเนจรตามอโดนิส หมายที่จะได้ใกล้ชิดซึ่งกันและกันไม่ว่าจะไป ทางไหนเจ้าแม่ก็จะ ตามไปด้วย

เทวีอโฟรไดที่หลงใหลและเป็นห่วงอโดนิส จนไม่เป็นอันระลึกถึงสถานแห่งหนึ่งแห่งใดที่เคยโปรด เที่ยวติดตาม อโดนิสไปในราวป่าคลอดเวลาเพื่อคอยตักเตือน และกำชับอโดนิสในเวลาล่าสัตว์ มิให้หักหาญเสี่ยงอันตรายมากนัก ให้หลีก เลี่ยงสัตว์ใหญ่ ล่าแต่สัตว์เล็กชนิดที่พอจะล่าได้เท่านั้น ตลอดเวลาที่เฝ้าติดตามเจ้าแม่พะเน้าพะนอเอาใจ อโดนิสด้วยประการ ทั้งปวง

แต่ความรักของเจ้าแม่ที่มีต่ออโดนิสเป้นความรักข้างเดียว เจ้าหนุ่มหาได้รักตอบเจ้าแม่ไม่ ชะรอยจะเป็น เพราะอีรอสมิได้แผลงศรรักเอากับเจ้าหนุ่มดอกกระมัง ด้วยเหตุนี้อโดนิสจึงไม่แยแสต่อคำกำชับตักเตือนของเจ้าแม่ คงเที่ยวล่าสัตว์ใหญ่น้อยเรื่อยไปตามใจชอบ วันหนึ่งเจ้าแม่อโฟรไดที่มีธุระต้องจากไป จึงทรงเทพยานเทียมหงส์เหิน เหาะไปในนภากาศ ฝ่ายอโดนิสพบหมูป่าแสนดุร้ายเข้าตัวหนึ่ง (บางตำนานเล่าว่าหมูป่าตัวนี้ เกิดจากเสกจำแลงของ เทพเอเรส เนื่องจากหึงหวงความรักที่เทวีอโฟรไดที่มีให้แก่อโดนิส) และตามล่ามันไปจนหมูป่าจนมุมแล้ว อโดนิสก็ ซัดหอกไปถูกหมูป่า แต่หอกพลาดที่สำคัญ หมูป่าได้รับความเจ็บปวดจึงเพิ่มความดุร้ายยิ่งขึ้น จึงรี่เข้าขวิดอโดนิสล้มลง ถึงแก่ความตาย

เจ้าแม่อโฟรไดที่ได้สดับเสียงร้องโอดโอยของอโดนิสในกลางหาวผินพักตร์มาเห็นดังนั้น จึงชักรถเทียม หงส์กลับลงมายังพื้นปฐพี และลงจากรถเข้าจุมพิตอโดนิสซึ่งกำลังจะสิ้นใจ ครั้นแล้วเจ้าแม่ก็ครวญคร่ำรำพันพิลาปพิไร ด้วยสุดแสนอาลับรัก แถมทึ้งเกศาข้อนทรวงทำอาการต่าง ๆ ตามวิสัยผู้ที่คลุ้มคลั่ง เจ้าแม่รำพันตัดพ้อเทวีครองชะตา กรรมที่ด่วนเด็ดชีวิตผู้เป็นที่รักของเจ้าแม่ให้พรากจากไป ประดุจควักดวงเนตรออกจากเจ้าแม่ก็ไม่ปาน พอค่อยหาย โศกแล้วเจ้าแม่จึงเอื้อนโอษฐ์ออกปณิธานว่า "ถึงมาตรว่าดังนั้นก็อย่าหมายเลยว่า ผู้เป็นที่รักแห่งข้าจะต้องอยู่ ในยมโลกตลอดกาล หยาดโลหิตของอโดนิสแก้วตาข้าจงกลายเป็นบุปผชาติชนิดหนึ่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์ความ โศกของข้าให้ข้าได้ระลึกถึงวาระเศร้าสลดครั้งนี้เป็นประจำปีเถิด" เมื่ออกปณิธานดังนั้นแล้ว เจ้าแม่ก็พรมน้ำ ต้อยเกสรอันศักดิ์สิทธิ์ลงบนหยาดโลหิตของอโดนิส บัดดลก็มีพันธุ์ไม้ดอกสีแดงเลือดดังสีทับทิมผุดขึ้น ดังมีชื่อเรียกกัน สืบๆ มาว่าดอกอโดนิส หรือ ดอกเออะเนมโมนิ (Anemone) ก็เรียก แปลว่า ดอกตามลม (บางตำนานว่าก็คือ ดอกกุหลาบนั่นเอง) เนื่องจากธรรมชาติซึ่งกล่าวกันว่า ลมทำให้ดอกไม้นี้แย้มบานและภายหลังก็พัดกลีบให้ร่วงหล่นไป มีฤดูกาลอยู้ได้เพียงชั่ว 3-4 เดือนเท่านั้น

ว่ากันว่าแรกเริ่มเดิมทีก่อนที่จะกลายเป็นเทวีแห่งความงามและความรักนั้น อโฟร์ไดที่เป็นเทวีแห่งความสมบูรณ์ มาก่อน เมืองที่นับถือเจ้าแม่มากที่สุดได้แก่ เมืองปาฟอสในไซปรัสและเมืองไซธีราในเกาะครีต นอกจากนั้น วิหารที่เล่าลือ ว่าโอ่อ่าที่สุดของซีกโลกทางด้านตะวันออกได้แก่ วิหารที่เมืองคนิดุส ในรัฐแคเรีย (Caria) เมื่อเดินทางมาถึงกรีกก็มีผู้ ศรัทธาเชื่อถือสร้างวิหารใหญ่ให้หลายแห่ง รวมทั้งกรุงเอเธนส์ซึ่งมีเทวีเอเธน่า เป็นเทพอุปถัมภ์อยู่บนเนินอโครโปลิส

ได้กล่าวแล้วว่า อโฟรไดที่เป็นเทวีที่ชาวกรีกและโรมันโบราณถือว่าเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์มาก ที่สุด เนื่องจากเจ้าแม่เป็นเทวีครองความรักและความงาม และความงามกับความรักก็เป็นสิ่งที่จับใจคนมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้เจ้าแม่จึงมักเป็นที่เทิดทูนและกล่าวขวัญในวิจิตรศิลป์และวรรณคดีต่าง ๆ นอกจากนั้นชาวกรีก และโรมันยังถือ ว่าเจ้าแม่เป็นเทวีครองความมีลูกดกและการให้กำเนิดทารกอีกด้วย มีคติความเชื่อประการหนึ่งซึ่งอย่างน้อยก็ยังพูดกันติด ปากชาวตะวันตกมาจนถึง ปัจจุบันนี้ว่า ทารกถือกำเนิดเพราะนกกระสานำมา คตินี้สืบเนื่องจากข้อยึดถือของชาวกรีกและ โรมันมาแต่เดิมเหมือนกัน

ในเทพปกรณัมกล่าวว่า นกกระสาเป็นนกประกอบบารมีของอโฟรไดที่ คราวใดมีนกกระสาผัวเมียไปทำรังอยู่บน ยอดหลังคาบ้านใด ก็หมายความว่าเจ้าแม่อโฟรไดที่โปรดให้ครอบครัวในบ้านนั้นมีลูกและจะให้ประสบความรุ่งเรือง ใน ยุโรปโดยเฉพาะภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ถือนกกระสาประหนึ่งที่เคารพทีเดียว ในเยอรมันและเนเธอร์แลนด์ถือว่านก กระสาเป็นนกที่นำโชคลาภมาให้ ดังนั้นชาวเยอรมันและวิลันดาจึงยินดีที่จะให้นกกระสามาทำรังบนหลังคาบ้านเสมอ ยิ่ง อาศัยอยู่นานเท่าใด ก็ยิ่งเป็นมงคลแก่บ้านนานเท่านั้น นกกระสาจึงเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่าวสำคัญตามเทพนิยาย นิทาน ชาวบ้าน และนิทานเทียบสุภาษิตต่าง ๆ ของฝรั่งด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้

อนึ่งชาวยุโรปทั่วไปเขาเชื่อกันมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษด้วยว่า ในคราวที่บ้านหนึ่งบ้านใดกำลังจะมีเด็ก เจ้าแม่อโฟรไดที่จะให้นกกระสามาบินวนเวียน เหนือบ้านนั้น คตินี้กินความไปถึงว่า ถ้านกกระสาบินวนเหนือบ้านที่กำลังจะมีเด็กเกิด เด็กนั้นจะคลอดออกจากครรภ์โดยง่ายและอยู่รอดด้วย แต่คตินี้ในที่สุดก็เป็นเพียงข้อ อ้างที่พ่อแม่จะใช้ตอบลูกตอนโต ๆ เมื่อถูกถามว่าน้องเล็กเกิดมาแต่ไหน หรือตัวเกิดจากอะไรเท่านั้น

เทวีอโฟร์ไดที่มีต้นเมอร์เทิลเป็นพฤกษาประจำองค์ สัตว์เลี้ยงของเจ้าแม่เป็นนก บ้างว่าเป็นนกเขา นกกระจอกบ้าง หงส์บ้าง ตามแต่กวีคนไหนจะชอบใจยกให้เป็น สัญลักษณ์ของเทวีแห่งความงามและความรัก


เทพเฮฟเฟตัส เทพแห่งการช่างโลหะ


วัลแคน เป็นเทพโอลิมเปียนครองการช่างโลหะ เรียกตามชื่อกรีกว่า ฮีฟีสทัส (Hephaestus) มีประวัติกำเนิดเล่าแตกต่างกันเป็น 2 นัย

             นัยหนึ่งว่าเป็นเทพบุตรของเจ้าแม่ฮีรากับเทพปรินายกซูสโดยตรง แต่อีกนัยหนึ่งว่าฮีฟีสทัสถือกำเนิดแต่เจ้าแม่ฮีรา ทำนองเทวีเอเธน่าเกิดกับซูสฉะนั้น คือผุดขึ้นจากเศียรของเจ้าแม่โดยลำพังตนเอง ทั้งนี้เนื่องด้วยเจตจำนงของเจ้าแม่ฮีราที่ ต้องการจะแก้ลำซูสในการกำเนิดของเทวีเอเธน่าให้เทพทั้งปวงเห็นว่าเมื่อซูสทำให้เทวีเอเธน่าเกิดเองได้ เจ้าแม่ก็สามารถทำให้ ฮีฟีสทัสเกิดเองได้เช่นกัน

             แต่ถึงกำเนิดของเทพฮีฟีสทัสจะเป็นประการใด ก็ต้องนับว่าฮีฟีสทัสเป็นเทพบุตรของซุสด้วยเช่นกัน หากมีข้อควรกล่าวก็ คือว่า ฮีฟีสทัส "ติดแม่" มากกว่า "ติดพ่อ" และเข้ากับ "แม่" ทุกคราวที่ "พ่อแม่ทะเลาะกัน" ตามประสา "ผัวเจ้าชู้" กับ "เมียขี้หึง" ทั่วไป ในคราวหนึ่งซูสประสงค์จะลงโทษเจ้าแม่ฮีราให้เข็ดหลาบ เอาโซ่ทองล่ามเจ้าแม่แขวนไว้กับกิ่งฟ้าห้อยโตงเตง อยู่ ดังนั้นฮีฟีสทัสก็เข้าช่วย เจ้าแม่ พยายามแก้ไขโซ่จะให้เจ้าแม่เป็นอิสระ ซูสบันดาลโทสะ จึงจับฮีฟีสทัสขว้างลงมาจากสวรรคโลก 

             ฮีฟีสทัสตกจากสวรรค์เป็นเวลาถึง 9 วันจึงลงมาถึงมนุษย์โลก ณ เกาะเลมนอสในทะเลเอจีน และเนื่องในการตกครั้งนี้ เธอจึงมีบาทแปเป๋ไปข้างหนึ่งตั้งแต่นั้น มา แต่ทั้งที่เธอต้องพิการเช่นนั้นด้วยหมายจะช่วยมารดา เจ้าแม่ฮีราผู้เป็นมารดาก็หาแยแสเหลียวแลเธอไม่ ฮีฟีสทัสเทพบุตรบังเกิดความโทมนัสซ้ำเติมอย่างแสนสาหัสใน ความเฉยเมยของเจ้าแม่ ถึงแก่ตั้งปณิธานว่าจะไม่กลับขึ้นไปบนเขาโอลิมปัสอีก เธอจึงสร้างวังประทับอยู่ในเกาะเลมนอสและตั้งโรงหล่อเพลิดเพลินในการช่างฝีมือประกอบ โลหะนานาชนิด โดยมีพวกยักษ์ไซคลอปส์เป็นลูกมือ และเพื่อจะแก้ลำความเมินเฉยของมารดา เธอจึงสร้างบัลลังก์ทองคำเปล่งสะพรั่งพร้อมด้วยลวดลายสลักเสลาอย่างหาที่ เปรียบมิได้ขึ้นตัวหนึ่ง เป็นบัลลังก์กลประกอบด้วยลานกลไกซ่อนอยู่ข้างใน ส่งขึ้นไปถวายเจ้าแม่ฮีรา เจ้าแม่ยินดีในรูปลักษณะอันแสนงามของบัลลังก์กล สำคัญว่าเป็นของ บุตรถวายโดยซื่อ พอขึ้นประทับเครื่องกลไกที่ซ่อนอยู่ก็ดีดกระหวัดรัดองค์เจ้าแม่ตรึงติดกับบัลลังก์อย่างมั่นคง จนไม่สามารถแม้แต่จะขยับเขยื้อนองค์ แม้เทพทั้งปวงจะรวม กำลังกันเข้าแก้ไขก็จนปัญญา ไม่มีทางปลดเปลื้องพันธนาการให้หลุดออกไปได้

             เมื่อเหนือกำลังทวยเทพดังนั้น เฮอร์มีส เทพผู้มีลิ้นทูต จึงอาสามาเกลี้ยกล่อมวอนง้อขอให้ฮีฟีสทัสขึ้นไปช่วยแก้แต่ "ลิ้นทูต" ของเฮอร์มีสกลับกลายเป็น "ลิ้นถึก" ในกรณีนี้ แม้เธอจะหว่านล้อมด้วยความคมขำไพเราะสักเพียงใด ก็ไม่อาจชักจูงฮีฟีสทัสให้ขึ้นไปบนเขาโอลิมปัสได้

             ทวยเทพประชุมปรึกษากันอีกวาระหนึ่ง มองไม่เห็นใครนอกจากเทพไดโอนิซัส จะช่วยได้ จึงเห็นชอบพร้อมกันส่งไดโอนิซัสลงมาเกลี้ยกล่อมเทพฮีฟีสทัสด้วย อุบาย คือใช้วิธีมอมฮีฟีสทัสด้วยน้ำองุ่นจนฮีฟีสทัสเคลิบเคลิ้มมึนเมา แล้วไดโอนิซัสก็พาฮีฟีสทัสขึ้นไปแก้เครื่องกลพันธนาการให้เจ้าแม่ฮีราเป็นอิสระจนได้ ใช่แต่เท่านั้น เธอยังช่วยไกล่เกลี่ยให้เทพบิดามาดรและเทพบุตรออมชอมเข้ากันได้ดังปกติอีกด้วย

              แต่ทั้งที่ได้รับความยกย่องโปรดปรานเทียมเท่าเทพองค์อื่น ๆ ในคณะเทพโอลิมเปียนแล้วเช่นนั้น ฮีฟีสทัสก็ไม่ยินดีที่จะอยู่บนเขาโอลิมปัสเป็นประจำ จะขึ้นไปก็เฉพาะคราวประชุมเทพสภาและในวาระอื่น ๆ เท่านั้น ในยามปกติเธอคงขลุกอยู่ในโรงหล่อ และหมกมุ่นง่วนกับงานช่างของเธอเป็นนิตย์ จะเปรียบเธอก็เป็น พระเวสสุกรรมของกรีก เพราะการสร้างวังที่ประทับของเทพแต่ละองค์บนเขาโอลิมปัสนั้นเป็นพนักงานของ เธอทั้งสิ้น นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้ออกแบบประกอบเครื่องตกแต่งตำหนักต่าง ๆ ด้วยโลหะประดับมณีแวววาว จับตา และประกอบอสนีบาตเป็นอาวุธถวายแก่ซูส กับศรรักให้อิรอส



เทพไดโอนีซุส เทพแห่งเหล้าไวน์


.แบกคัส หรือ ไดโอนิซัส (dionysus) ตามชื่อกรีก ได้รับการยกย่องเป็นเทพองค์หนึ่งในคณะเทพโอลิมเปียน และเป็นที่นับถือของชนทั้งหลายในฐานะเทพผู้พบและครองผลองุ่น ต่อมาเป็นเทพครองน้ำองุ่นตลอดจนความเมาเนื่องจากการดื่มน้ำองุ่นด้วย 

             ไดโอนิซัส เป็นบุตรของซูสเทพบดี กับนาง สีมิลี ธิดาของแคดมัสผู้สร้างเมืองธีบส์ กับนางเฮอร์ไมโอนี การกำเนิด ของเทพไดโอนิซัสนับว่าน่าสงสารทีเดียว เหตุเพราะความหึงหวงของเจ้าแม่ฮีรา กล่าวคือ

             เมื่อเทพปริณายกซูสไปเกิดมีความปฏิพัทธ์พิศวาสนางสีมิลี จึงได้จำแลงองค์เป็นมานพลงมาแทะโลมและสมสู่ด้วย ถึง แม้ว่านางจะได้รับแต่คำบอกเล่าของมานพ โดยไม่มีอะไรพิสูจน์ว่ามานพนั้นคือเทพไท้ซูส นางก็พอใจและปิติยินดีไม่ติดใจ สงสัยอันใด ไม่ช้าเรื่องพิศวาสระหว่างซูสเทพบดีกับนางสีมิลีก็แพร่งพรายไปถึงเจ้าแม่ฮีราผู้หึงหวง เจ้าแม่มุ่งมั่นจะให้เรื่องนี้ ยุติเสียทันที จึงจำแลงองค์เป็นนางพี่เลี้ยงแก่ของสีมิลีเข้าไปในห้องของนาง และชวนคุย พอได้ช่องก็ซักเรื่องเกี่ยวโยงไปถึง เรื่องความรักของนาง และออกอุบายให้นางหลงเชื่อเกี่ยวกับประวัติอันน่าสงสัยของมานพผู้นั้นว่าจะเป็นซูสจำแลงมาจริงหรือไม่ โดยให้มานพนั้นปรากฏกายให้เห็นในลักษณะของเทพเจ้า ซึ่งนางสีมิลีก็หลงเชื่อในที่สุดและตกลงใจที่จะกระทำตามที่พี่เลี้ยง แก่แนะนำ   

             เมื่อซูสเสด็จลงมาอีก นางสีมิลีจึงหว่านล้อมให้ไท้เธอสาบาน โดยอ้างแม่น้ำสติกซ์เป็นทิพยพยานว่าไท้เธอจะโปรด ประทานฉันทานุมัติตามคำของนางประการหนึ่ง ครั้นไท้เธอสาบานแล้วนางก็ทูลความประสงค์ของนางให้ทราบ ซูสเทพบดีถึงแก่ ตกตะลึงด้วยคิดไม่ถึงว่านางจะทูลขอในข้อฉกรรจ์ถึงเพียงนี้ ไท้เธอตระหนักดีว่า ถ้าไท้เธอสำแดงองค์ให้ปรากฏตามจริง ก็จะ ทำให้นางสีมิลีผู้เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาไม่อาจมีชีวิตได้ แต่อย่างไรก็ดีไท้เธอก็มีพันธะที่จะต้องปฏิบัติตามสาบานอย่าง เคร่งครัด ไม่มีทางจะบ่ายเบี่ยงได้ ด้วยว่าการละเมิดคำสาบานซึ่งอ้างแม่น้ำสติกซ์อันศักดิ์สิทธิ์เป็นทิพยพยานนั้นย่อมบังเกิดผล ร้ายกับเทพผู้สาบานทุกองค์เหมือนกันหมด ไม่มีที่ยกเว้นแม้แต่องค์เทพบดีซูสเอง

             ซูสเนรมิตองค์ให้ปรากฏตามลักษณะประกอบด้วยทิพยาภิสังขารอันเป็นจริง พอนางสีมิลีได้เห็นภาพของไท้เธอ ด้วยตาอันพร่าพราว นางก็ถึงแก่ล้มกลิ้งด้วยไม่อาจทนต่อทิพยอำนาจของไท้เธอได้ และในชั่วพริบตาก็บังเกิดไฟลุกขึ้นเผา ผลาญนางให้วอดวายกลายเป็น จุณไป ในขณะนั้นนางสีมิลีทรงครรภ์อยู่ แม้ซูสไม่อาจช่วยชีวิตของนางไว้ได้ แต่ก็ยังสามารถ ช่วยบุตรได้ ไท้เธอฉวยทารกออกจากไฟฝัง ไว้ในต้นชานุมณฑลของไท้เธอเอง ทารกคงอยู่ในที่นั้นต่อจากที่ได้อยู่ในครรภ์ มารดามาแล้ว จนครบกำหนดคลอด ซูสจึงเอาทารกออก มอบให้นางอัปสรพวกหนึ่งเรียกว่า ไนสยาดีส (Nysiades) เป็นผู้ อนุบาล นางอัปสรพวกนี้เอาใจใส่อนุบาลทารกอย่างทะนุถนอมเป็น อย่างดี ซุสจึงโปรดเนรมิตให้กลายเป็นกลุ่มดาวหนึ่ง เรียกว่า ไฮยาดีส (Hyades) ส่วนทารกน้อยผู้ที่ ถูกนางอัปสรเลี้ยงดู มีชื่อว่า ไดโอนิซัส หรือ แบกคัส นั่นเอง  

             แม้ว่ากำเนิดแท้จริงของไดโอนิซัสจะเป็นกึ่งมนุษย์กึ่งเทพ แต่ก็ได้รับการยอมรับให้เป็นเทพอย่าง สมบูรณ์ มีความเป็น อมฤตภาพเช่นเดียวกับเหล่าเทพสภาอื่น ๆ บนสวรรค์ชั้นโอลิมปัส แต่ไดโอนิซัสรักที่จะ เดินทางท่องเที่ยวไปบนผืนดินอัน กว้างขวางมากกว่า ไปทางไหนก็นำความชุ่มชื้นแห่งสุราเมรัยติดไปด้วย คนที่มองเห็นคุณความดีของเธอพากันเคารพนับถือ ส่วนคนที่ดูถูกเหยียดหยามมักถูกลงโทษ ในฐานะที่เพิ่ง จะดำรงตำแหน่งเทพ ไดโอนิซัสไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้ คนนับถือสักเท่าใดนัก ครั้นเวลาผ่านไปและคุณกับโทษของเธอเป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้น มนุษย์ส่วนใหญ่จึงพากันเคารพนับถือ และสร้างวิหารถวายแด่ เมรัยเทพเป็นการใหญ่ 

              ไดโอนิซัส ทำให้พื้นดินสะพรั่งไปด้วยองุ่นรสเลิศที่ทรงคุณประโยชน์มากหลาย ทำให้ผู้คนอิ่มหนำ และชื่นบาน แต่มีหลายครั้งที่ไดโอนิซัสทำให้คนกลายเป็นวิกลจริตอย่างน่าสมเพช ในจำนวนนี้มีสตรีกลุ่ม หนึ่งซึ่งเรียกว่า เมนาดส์ (Maenads) ซึ่งถูกพิษของเมรัย ทำให้เป็นบ้าหมดสติไปทุกคน ต่างกระโดด โลดเต้นร้องรำทำเพลงไปตามป่าเขาลำเนาไพร อย่างขาดสติ บางครั้งก็มาห้อมล้อมติดสอยห้อยตามไดโอนิซัส ไปด้วย ต่อมาในยุคโรมันเมื่อไดโอนิซัสได้รับชื่อเป็นภาษาละตินว่า แบกคัส (Bacchus) คณานางสติไม่ สมบูรณืเหล่าสตรีก็ได้รับชื่อใหม่ว่า แบกคันทีส(Bacchantes) จึงออกจะเป็นถาพที่ ประหลาดมากที่ชาย หนุ่มรูปงามคนหนึ่งจะเดินทางไปไหน ๆ โดยแวดล้อมด้วยผู้หญิงบ้า

             เรื่องราวความรักของไดโอนิซัสก็มีบ้าง แต่เป็นรักที่ลงเอยด้วยความเศร้าสลด คือเธอไปพบและช่วยเหลือนาง อาริแอดนี่ (Ariadne) ธิดาเจ้ากรุงครีตไว้ได้ อาริแอดนี่ ธิดาของท้าว ไมนอสแห่งนตรครีต ซึ่งเลี้ยงอสูรร้ายชื่อ มิโนทอร์เอาไว้ใต้ดิน เมื่อวีรบุรุษ ธีลิอัสเดินทางไปครีตเพื่อเป็นเหยื่อแก่มิโนทอร์ นวลอนงค์ก็เกิดมีใจปฏิพัทธ์กับเจ้าชาย หนุ่ม จึงหาทางช่วยเหลือและพาหนีออกเกาะครีตได้สำเร็จ แต่ทว่านางถูกทอดทิ้งไว้เดียวดายบนเกาะร้างแห่งหนึ่ง ไดโอนิซัส ไปพบเข้าจึงเกิดความสงสารและรักนาง แต่รักได้ไม่นาน อาริแอดนี่ก็ตายลง ไดโอนิซัสสุดเสียใจนัก จึงไม่มีรักใหม่อีกเลย

             ตัวของไดโอนิซัสเองก็มีชีวิตแสนเศร้าพอ ๆ กับรักของเธอเอง ใครคิดบ้างว่าเทพที่มีกายเป็นอมฤตภาพก็มีโอกาส ตายได้เช่นกัน นักกวีชาวกรีกโบราณเขาเขียนขึ้นตามความเป็นจริงของต้นองุ่น

             กล่าวคือ เมื่อถึงฤดูเก็บองุ่น ชาวบ้านจะฟันเอากิ่งที่มีองุ่นติดเต็มไปหมด เหลือไว้แต่ต้นโดดเดี่ยว มองดูแล้วน่า สะพรึงกลัว เพราะมีแต่ลำต้นลุ่น ๆ ปราศจากกิ่งก้านสาขา แต่ไม่นานเมื่อเวลาผ่านไป ต้นองุ่นก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับแตกแยก กิ่งก้านและใบสวยงาม ต่อจากนั้นก็ผลิดอกออกผลเป็นที่เจริญตาอีกครั้ง

             ฉันใดฉันนั้นเทพไดโอนิซัส ตามตำนานกล่าวว่า เธอถูกยักษ์เผ่าวงศ์ไทแทน ทำร้ายอย่างน่าสยองขวัญด้วยการฉีก ร่างออกเป็นชิ้น ๆ ก็ดั่งต้นองุ่นที่ถูกตัดกิ่งก้านเพื่อเก็บผลของมัน แต่ไม่นานนัก เทพไดโอนิซัสก็จับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ ก็ ในเวลาที่เธอฟื้นจากความตายนี่แหละ ที่ใคร ๆ ทั้งเทวดาและมนุษย์ต่างก็ชื่นชมยินดี และจัดงานรื่นเริงฉลองรับขวัญกัน เอิกเกริก

             และจากการตายนี้เอง ไดโอนิซัสได้ช่วยเหลือมารดาที่เธอไม่เคยเห็นหน้ามาก่อนจากหัตถ์ของยมเทพ และนำ ขึ้นสถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นโอลิมปัสได้อย่างปลอดภัย 

             เรื่องมีอยู่ว่า เทพไดโอนิซัส ได้ติดตามหามารดาในปรโลก เมื่อพบแล้วเธอก็ขอนางคืน มาจากยมเทพฮาเดส แต่มัจจุราชไม่ยินยอม จนเกิดการโต้เถียงกันว่าใครจะเหนือกว่าใคร ไดโอนิซัสบอกคำเดียวว่า ตนนั้นเหนือกว่ามัจจุราช เพราะเธอสามารถตายแล้วคืนชีพได้อีก ไม่ เคยมีเทพองค์ใดกระทำได้อย่างเธอเลย เทพฮาเดสเห็นจริงตามนั้น ก็ยอมมอบนางสิมิลีให้บุตร ชายพาออกจากแดนบาดาลไป เทพไดโอนิซัสจึงพามารดาขึ้นสวรรค์บนโอลิมปัส ที่นั่นเหล่าเทพ น้อยใหญ่ต่างต้อนรับนางสิมิลีเป็นอย่างดี โดยที่นางเป็นอมตขนคนเดียวที่อยู่ท่ามกลางอมตเทพ ทั้งปวงและฮีร่าเทวีก็ทำอะไรมิได้อีก

เทพ Dionysus หรือ Dionysos(หรือ Bacchus ในเทพนิยายกรีกและโรมัน) นอกจากถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งไวน์แล้ว ยังรวมถึง เทพผู้นำความเจริญ อารยธรรม(Civilization) ,ผู้สร้างกฏระเบียบ(Lawgiver) , และผู้รักสันติ(Lover of Peace) และรวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร(Agriculture) และเรื่อยไปถึงการละคร(Theater)

ในตำนานกรีก บ้างก็ว่า Dionysus เป็นบุตรของเทพ Zeus และนาง Semele …บ้างก็ว่าเป็นบุตรแห่ง Zeus และ Persephone

วัวตัวผู้(Bull), งูใหญ่(Serpent),ต้นไอวี่และไวน์(The ivy and wine) ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์แห่งเทพ Dionysus และนอกจากนี้มักจะออกมาในภาพของเทพผู้ขี่เสือดาว(Leopard)เป็นพาหนะ,สวมใส่อาภรณ์หนังเสือดาว,หรือ ในภาพของเทพผู้ทรงราชรถ ที่ชักลากโดยเสือดำ(Panthers)

ในบางแห่งขนานนามเทพผู้นี้ในนาม "The god of cats and savagery"(เทพแห่งเหล่าหญิงเลวและคนป่าเถื่อน) ก็มี


เทพเพอร์ซิโฟนี ราชินีแห่งยมโลก

เพอร์เซโฟนี (Persephone) หรือ โพรเซอร์ฟินี ไม่ใช่ภูติผีปีศาจ หรืออสูรกาย แต่เธอคือธิดาของพระนางดิมิเทอร์ (Demeter) เทพีแห่งการเก็บเกี่ยว ซึ่งถูก ฮาเดส ลักพาตัวลงไปเป็นมเหสี หรือราชินีแห่งยมโลก
พระนางดิมิเทอร์ มักพาธิดาอันเป็นที่รักติดตามไปด้วยทุกหนแห่ง แม้เมื่อเสด็จมายังโลกมนุษย์เพื่อดูแลต้นไม้และไร่นา เจ้าหญิงเพอร์เซโฟนีจะกระโดดโลดเต้นอย่างร่าเริงเมื่อได้เห็นดอกไม้เบ่งบาน และธรรมชาติอันสวยงาม
วันหนึ่ง ขณะที่เจ้าหญิงเพอร์เซโฟนีกำลังเก็บดอกไม้อยู่อย่างเพลิดเพลิน ทันใดนั้นแผ่นดินก็แยกตัวออกจากกัน ฮาเดสควบม้าเทียมรถสีดำผ่านมา และอุ้มเพอรืซโฟนีหายเข้าไปในรอยแยกของแผ่นดินอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีหมูฝูงหนึ่งหล่นเข้าไปในรอยแยกของแผ่นดินนั้นด้วย
เมื่อพระนางดิมิเทอร์ทราบว่าธิดาของเธอหายตัวไปจึงบังเกิดความโศกเศร้า ทำให้ต้นไม้ใบหญ้าพลอยเหี่่ยวเฉา นางได้ ติดตามข่าวคราวจากพระอาทิตย์ แต่ในตอนที่เกิดเหตุถูกเมฆมาบดบังจึงไม่เห็นเหตุการณ์ จนได้พบกันเด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของหมูที่หายไป เขามีชื่อว่า ทริปโทลีมัส (Triptolemus) เมื่อฟังเรื่องราวทั้งหมด พระนางดิมิเทอร์จึงแน่พระทัยว่า ฮาเดส เทพเจ้าแห่งความตาย เป็นผู้ลักพาธิดาไป จึงรีบไปเฝ้าซีอุสให้ช่วยจัดการ
ซีอุส (Zeus) เทพเจ้าแห่งสายฟ้าผู้ยิ่งใหญ่ ทรงเกรงว่ามวลมนุษย์จะได้รับความเดือดร้อน เพราะหากพระนางดิมิเทอร์มีแต่ความโศกเศร้า แผ่นดินก็จะแห้งแล้ง ปราศจากต้นไม้ใบหญ้าและความอุดมสมบูรณ์ จึงบัญชาให้ เฮอร์เมส เทพเจ้าแห่งคนเดินทางและผู้ส่งข่าว นำรับสั่งไปถึงฮาเดส ให้ปล่อยตัวเทพธิดาเพอร์เซโฟนี ซึ่งฮาเดสก็ต้องทำตามบัญชา
และเมื่อใดที่เทพธิดาเพอร์เซโฟนีกลับขึ้นมาหาพระมารดา แผ่นดินก็จะอุดมสมบูรณ์และอบอุ่น ซึ่งตรงกับฤดูใบไม้ผลิ พระนางดิมิเทอร์ไม่ประสงค์ให้มนุษย์ต้องอดอยากในช่วงฤดูหนาว อันเป็นช่วงเวลาที่เพอร์เซโฟนีไปอยู่ในยมโลก จึงให้ทรีปโทลีมัสเด็กหนุ่มเจ้าของหมูที่หายไป และได้ช่วยพระนางตามหาเพอร์เซโฟนียืมรถบรรทุกเมล็ดพันธุ์โปรยลงพื้นดิน และสอนให้มนุษย์รู้จักการหว่านเมล็ดพืชในฤดูใบไม้ผลิ เก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วง และเก็บรักษาไว้ในช่วง ระยะเวลาที่แผ่นดินแห้งแล้งและหนาวเย็น
พอร์เซโฟนีราชินีแห่งยมโลกผู้โศกเศร้า
เมื่อฮาเดสนำตัวเจ้าหญิงเพอร์เซโฟนีลงมาในยมโลกใต้พิภพ และได้แต่งตั้งให้เป็นราชินี ซึ่งเพอร์เซโฟนีก็เอาแต่ร้องไห้ด้วยความโศกเศร้า แม้ว่าจะได้ประทับบนบัลลังค์หินอ่อนสีดำและได้รับการประทานเครื่องประดับที่ทำด้วยทองคำ และอัญมณีอันหาค่ามิได้ก็ตาม นางกลายเป็นพระราชินีแห่งยมโลกผู้เงียบเหงาและเย็นชา
ครั้งหนึ่ง เมื่อ โพริโธอัส (Pirithous) กษัตริย์ของพวก แลพิธ (Lapith) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรีซกลายเป็นพ่อม่าย จึงให้สหายของตนคือ ธีซิอัส (Theseus) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของเอเธนส์ ให้ช่วยหาเจ้าสาวคนใหม่ และผู้ที่ไพริโธอัสสนใจคือ เพอร์เซโฟนี ราชินีแห่งยมโลก

ธีซีอัส เคยให้สัญญาว่าจะช่วยเหลือเพื่อนในทุกเรื่อง จึงไม่อาจปฎิเสธคำขอร้องของไพริโธอัสได้ ทั้งสองลงสู่ยมโลกและทูลความตามประสงค์ในการมาให้ฮาเดส ทรงทราบ แต่เมื่อได้รับเชิญให้นั่งลงบนม้านั่งวิเศษของฮาเดส ทั้งสองก็ไม่สามารถลุกขึ้นได้ จนวันหนึ่ง เฮอร์คิวลิสได้ลงมาในยมโลกจึงช่วยธีซิอัสขึ้นมาได้สำเร็จ และพากลับสู่เมืองมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย แต่นับจากนั้นมาชาวเอเธนส์ซึ่งเป็นเชื้อสายของกษัตริย์ ธีซิอัสจึงมีต้นขาเรียวบาง เพราะส่วนหนึ่งของร่างกายยังคง ติดอยู่บนม้านั่งวิเศษในยมโลก
ส่วนไพริโธอัส เฮอร์คิวลิสไม่สามารถช่วยดึงให้ลุกขึ้นจากม้านั่งวิเศษได้ เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหว เพราะเทพเจ้าทั้งหลายไม่ยอมให้เฮอร์คิวลิสช่วยนั่นเอง ทั้งนี้เกิดขึ้นเพราะความไม่เจียมตัวของไพริโธอัสเอง


เทพอีรอส กามเทพ

ได้กล่าวมาแล้วว่าเทวีอโฟร์ไดท์ให้ประสูติบุตรธิดาดับเทพเอเรส 3 องค์ ธิดาคือ นางเฮอร์โมไอนีนั้น ได้อภิเษกกับแคดมัสเจ้ากรุงธีบส์ ส่วนบุตรคือ คิวพิด กับแอนทีรอส คิวพิดนั้นคือกามเทพของโรมัน ชาวกรีกเรียกว่า อีรอส  อีรอสหรือคิวพิดซึ่งเป็นบุตรของอโฟร์ไดท์กับเอเรสนี้ เป้นคนละองค์กับอีรอสหรือคิวพิดที่อุบัติขึ้นแต่ครั้งสร้างโลก และการกล่าวขวัญถึงโดยทั่ว ๆไป ก็มักจะหมายถึงอีรอสซึ่งเป็นบุตรของอโฟร์ไดท์กับเอเรสองค์นี้ 

             นอกจากเทพอพอลโลแล้ว  อีรอสเป็นที่ถือกันว่าประกอบด้วยรูปลักษณะงามที่สุดในบรรดาเทพทั้งหลาย ปรัชญาเมธีเพลโตกล่าวความอุปไมยเกี่ยวกับเทพองค์นี้ไว้ว่า "กามเทพ คือ อีรอส ย่อมเข้าสิงหัวใจคนก็จริง แต่ก็ไม่ทุกหัวใจไป ด้วยว่าที่ใดมีความแข็งกระด้างเธอก็ผละหนี เกียรติคุณอันล้ำเลิศของเธอนั้นอยู่ที่ว่า เธอหา อาจที่จะทำผิด หรือยอมให้ผู้ใดทำผิดไม่ แม้กำลังบังคับก็ไม่สามารถจะหักเธอได้ลง"

             ว่ากันว่า ตำนานของเทพอีรอสผู้นี้ นักกวีชาวกรีกรุ่นก่อนมิได้แต่งขึ้น ต่อมากวีฮีสิออดได้แต่งให้มีเทพองค์นี้ เกิดขึ้น แต่มิใช่โอรสของเทวีอโฟร์ไดท์เลย  เป็นเพียงแค่เพื่อนกันเท่านั้น เพราะฉะนั้นตำนานของเทพผู้นี้จึงเป็นนักกวี ชาวโรมันเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้น และจะมีเฉพาะตำนานของโรมันเท่านั้นที่มีเรื่องราวของเทพองค์นี้ปรากฏอยู่

             ตามตำนานที่ยอมรับทั่วไปกล่าวว่า อีรอสเป็นเทพ"ติดแม่" เป็นที่สุด เมื่อมีเทวีอโฟร์ไดท์อยู่ ณ ที่ใดอีรอสก็ปรากฏอยู่ ณ ที่นั้นด้วย อันเป็นข้อเปรียบถึงธรรมดาแห่ง ความงามและกามวิสัยนั่นเอง อีรอสถือลูกศรแห่ง กามฉันท์กับคันธนูน้อยเป็นอาวุธ สำหรับยิงเสียบหัวใจของเทพและมนุษย์ให้เกิดความปรารถนาเร่าร้อนไปด้วยความ พิศวาส โดยที่ในชั้นเดิมเธอเป็นเด็กเยาว์อยู่เป็นนิตย์ไม่มีวันเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงต้องมีเทพน้อยอีกองค์ หนึ่งอุบัติขึ้นเพื่อเป็นเพื่อนเล่นและบริวารของเธอ เรียกว่า แอนทีรอส กำเนิดของแอนทีรอสนั้นมีตำนานเล่าไว้ดังนี้ 

              เมื่อไม่เห็นอีรอสเจริญวัยขึ้นเสียเลย อโฟรไดท์ปรารภกับธีมิส เทวีแห่งความยุติธรรมว่า อีรอสบุตรของเธอ ทำอย่างไรจึง จะเลี้ยงดูเธอให้โตขึ้นได้ ธีมิสชี้แจงว่า เหตุที่อีรอสไม่เติบโต ก็เพราะเธอขาดเพื่อนเล่นแก้เหงา ถ้ามีน้องเกิดขึ้นสักองค์หนึ่ง เธอคงจะ โตขึ้นอีกมาก ต่อมาในไม่ช้าแอนทีรอสก็เกิดขึ้น ภายหลังแต่นั้นอีรอสก็เติบโตแข็งแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว (ถึงกระนั้นรูปคิวพิดหรืออีรอส ที่เขียนและแกะสลักกันขึ้นทั่วไปก็ไม่พ้นรูปเด็ก) แอนทีรอสนอกจากจะเป็นเพื่อนเล่นของอีรอสแล้ว ยังถือกันว่าเป็นเทพบันดาลให้มี การรักตอบด้วย

             เรื่องของเทพ อีรอสกับนาง ไซคิ ซึ่งจะเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดเรื่องหนึ่งในเทพปกรณัมกรีกโรมัน  ด้วย เป็นเรื่องที่จับใจและให้คติน่าคิดหลายทำนอง สุดแต่ผู้อ่านผู้ฟังจะคิดเห็นตามอัธยาศัย โดยเฉพาะเรื่องนี้เป็นเรื่องรักของเทพอีรอส เอง ผู้มีฤทธิ์จะบันดาลให้ใครรักใครก็ได้ประการหนึ่ง และชื่อนาง ไซคิ (Psyche) ตัวเอกของเรื่องนั้นก็เผอิญเป็นคำเดียวกันกับ คำที่หมายถึง จิตใจหรือดวงวิญญาณอีกประการหนึ่งด้วย หรืออาจกล่าวว่า เทพปกรณัมกรีกอุปโลกน์นางไซคิให้หมายแทนลักษณะของ ดวงวิญญาณก็ได้ บรรยายตามเรื่องที่เล่าในปกรณัมนั้นว่า 

             ในกาลครั้งหนึ่ง กษัตริย์องค์หนึ่งของกรีกมีธิดา 3 องค์ ล้วนทรงสิริโฉมงามสะคราญ แต่ความงามของ 2 องค์พี่รวมกันจะเทียม เท่าด้วยความงามองค์น้องสุดก็หาไม่ ธิดาองค์หลังสุดนี้ทรงนามว่า ไซคิ เป็นเจ้าของความงามอัน ลือเลื่องเฟื่องฟุ้งยิ่งนัก ถึงกับใคร ๆ พา กันยกย่องเทิดทูนจนลืมบูชาเทวีอโฟร์ไดท์ เจ้าแม่แห่งความงามเสีย เป็นเหตุให้ศาลของเจ้าแม่เงียบเหงาวังเวง แท่นที่บูชา เจ้าแม่ก็ว่างเปล่าหาผู้ใดจะเข้าไปบวงสรวงมิได้ แม้แต่แขกเมืองก็ พากันผ่านศาลเจ้าแม่ไปชมความงามของไซคิกันหมดสิ้น เจ้าแม่ ริษยานวลอนงค์ยิ่งนัก คิดใคร่จะแกล้งนางไซคิให้ตกต่ำ ด้วยความอัปยศ เพื่อมิให้คนทั้งปวงยกย่องเทิดทูนและใฝ่ฝันถึงนางอีกต่อไป เจ้าแม่จึงเรียกอีรอสเทพบุตรมาบอกความ ประสงค์ของเจ้าแม่ให้ทราบ โดยสั่งให้อีรอสไปทำให้นางไซคิหลงรักสัตว์อุบาทว์ทรลักษณ์สัก คนหนึ่ง

             อีรอสกระทำตามเจ้าแม่สั่ง แต่ผลปรากฏในภายหลังกลับกลายเป็นว่า "สัตว์อุบาทว์ทรลักษณ์" ที่ไซคิจะต้อง หลงรักนั้นได้แก่ อีรอสเอง !

             ในอุทยานของเจ้าแม่อโฟร์ไดท์มีน้ำพุอยู่ 2 แอ่ง แอ่งหนึ่งเป้นน้ำหวาน อีกแอ่งเป็นน้ำขม น้ำพุหวานเป็นน้ำสำหรับ บันดาลความ ชื่นบาน ส่วนน้ำขมสำหรับบันดาลความขมขื่นระทมใจ ในครั้งแรกอีรอสตักน้ำพุทั้งสองชนิดบรรจุกุณโฑ ชนิดละใบ นำไปยังห้องที่ไซคิ หลับอยู่ อีรอสเอาน้ำขมในกุณโฑประพรมลงบนโอษฐ์ไซคิแล้ว จึงเอาปลายศรบันดาลความ พิศวาสสะกิดสีข้างของนางในบัดดลไซคิก็ สะดุ้งตื่น ถึงแม้ว่าอีรอสจะมิได้ปรากฏองค์ให้นางเห็น แต่ด้วยอารามลืมองค์ เธอจึงทำศรสะกิดองค์เธอเองด้วย เพราะตกใจและเธอก็ตก ห้วงรักนางไซคิด้วยอำนาจศรของเธอเองตั้งแต่บัดนั้น เธอเอาน้ำพุหวานรดลงบนเรือนผมของไซคิ แล้วก็ผละผินบินออกจากที่นั้นไป

              เวลาผ่านไป ไซคิก็ยิ่งเหงาเปล่าเปลี่ยวใจไม่มีผู้ใดใฝ่ฝันจะขอวิวาห์ด้วย สายตาคนทั้งหลายยังคงตะลึงลาน ในรูปโฉมและ คำคนยังแจ้วจำนรรจาสรรเสริญนางยังมีอยู่ แต่มิมีใครสู่ขอนางเป็นคู่ชีวิต เนื่องจากใคร ๆ ก็พากันเกรง นางอยู่สุดเอื้อมเหมือน กันหมด พี่สาวทั้งสองของนางได้แต่งงานไปแล้วกับเจ้ากรีกต่างนคร ส่วนไซคิยังคงอยู่เดียว เปลี่ยวใจต่อมาอีกเป็นเวลานาน จนบิดามารดาของนางเกิดปริวิตกเกรงว่าเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีความบกพร่องอะไร สักอย่างหนึ่ง ซึ่งตนได้กระทำลงไปโดย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เทพเจ้าโกรธถึงบันดาลโทษให้ปรากฏเช่นนี้ ท้าวเธอจึง บวงสรวงเสี่ยงทายคำพยากรณ์แห่งเทพอพอลโล และได้รับคำพยากรณ์ว่า นางจะได้คู่ครองเป็นมนุษย์ปุถุชนก็หาไม่ คู่ครองของนางในภายหน้านั้นคอยนางอยู่แล้วบนยอดเขาขุนเขา เป็นอมนุษย์ซึ่งไม่มีมนุษย์หรือเทพองค์ใดจะขัดขืน หรือต้านทานได้

             คำพยากรณ์นี้เป็นเหตุให้เกิดความเศร้าสลดแก่คนทั้งหลายและบิดามารดาของนางไซคิอย่างหาที่เปรียบมิได้ แต่ตัวนางเอง หาย่อท้อไม่ นางกลับเห็นว่า เมื่อวาสนา ชะตากรรมของนางจะต้องเป็นเช่นนั้นก็ตาม บิดามารดาของนางจึงจัดแจงส่งนางขึ้นไป บนยอดเขา ประกอบด้วยขบวนแห่แหนดั่งแห่ศพฉะนั้น ฝูงคนทั้งปวงที่ตามขบวนแห่ก็ ล้วนแต่เศร้าหมอง มีใจคอห่อเหี่ยวอาลัย เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาแล้ว บิดามารดาของนางและคนทั้งปวงก็พากันกลับ พร้อมด้วยใจละห้อยละเหี่ยยิ่งกว่าตอนขาไปอีก 

             นางไซคิยืนถอนสะอื้นด้วยความใจหายและว้าเหว่โดยลำพังตนอยู่บนชะง่อนหิน ในบัดดลเทพเสฟไฟรัสเจ้าแห่งลมตะวันตกก็บรรจงโอบอุ้มร่างไซคิขึ้นจากยอดเขา และหอบนางให้เลื่อนลอยลงสู่สถานแห่งหนึ่งเต็มไปด้วยติณชาติเขียวขจี ห้อมล้อม ด้วยนานารุกขพฤกษาชาติร่มรื่น นางเหลียวมองดูรอบข้างเห็นที่แห่งหนึ่งประกอบ ด้วย ซุ้มไม้ซึ้งตาดูชอบกล นางจึงเยื้องกรายเข้าไป เห็นธารน้ำพุใสไหลรินดังธารแก้วผลึก และถัดจากนั้นไปมีตำหนักหนึ่งตั้งตระหง่านตระการตา ไซคิค่อยมีใจเบิกบานและอาจหาญ ขึ้น จึงเดินเข้าไปในตำหนัก ภายในตำหนักล้วนแล้วด้วยทัศนาภาพอันวิจิตร หาที่เปรียบมิได้ในบรรดาที่มีในมนุษย์โลก แต่ไม่มีสิ่ง มีชีวิตใด ๆ ปรากฏอยู่ในที่นั้นเลย

             ในขณะที่เพลินชมภาพเจริญตาทั้งมวลภายในตำหนักนั้น พลันนางไซคิได้ยินเสียงพูดกับนางอยู่ใกล้ ๆ แต่ไม่เห็นตัวพูดว่า "ข้าแต่นางนาฏผู้เป็นใหญ่ สิ่งทั้งปวงที่ ปรากฏแก่ตาท่านในที่นี้เป็นของท่านทั้งหมด พวกเราเจ้าของเสียงนี้คือบริวารของท่าน ซึ่งจะ ปฏิบัติตามคำสั่งท่านทุกประการ จงวางใจพวกเราเถิด พวกเราจัดห้องบรรทม และกระยาหารสรรพด้วยรสอันจะพึงใจท่านพร้อมแล้ว ขอท่านจงเสพกินตามอัธยาศัยเถิด" 

             ไซคิปฏิบัติตามคำเชื้อเชิญ และคอย "อมนุษย์" ผู้จะมาครองคู่กับนาง ตลอดเวลานั้นนางได้ยินเสียงดนตรีทิพย์ บรรเลงขับ กล่อมแสนไพเราะหูยิ่งนัก แต่ "อมนุษย์" คู่ครองนางหาได้มาในยามกลางวันไม่ หากยามราตรีกาลมืดสนิท จึงจะมา และพอเวลา ใกล้รุ่งก็กลับไป ไซคิไม่สามารถแลเห็นคู่ครองของนางเลยว่ามีรูปร่างพิกลอย่างไร นางเพียงแต่ ได้ยินคำพร่ำพรอดอันเต็มไปด้วย ความอ่อนหวาน ซึ่งก็ชักจูงจิตใจนางให้เคลิบเคลิ้มพลอยสนิทเสน่หาไปด้วยเท่านั้น

             ไซคิอยู่ครองกับอีรอสโดยไม่รู้ว่าคู่ครองนางเป็นใครเป็นเวลาแรมเดือน ถึงนางจะอ้อนวอนเท่าใด อีรอสก็ไม่ยอมอยู่ให้นาง เห็น ยิ่งกว่านั้นเธอยังสั่งห้ามนางมิให้จุดไฟในราตรีกาลหรือถามนามของเธอเป็นอันขาด เธอให้เหตุผลกับนางว่า "เจ้าจะต้องการ เห็นข้าเพื่อประสงค์ใด เจ้ายังคลางแคลงใจในความรักของข้าอยู่หรือ ถ้าเจ้าแลเห็นชะรอยเจ้าอาจเทิดทูนบูชาหรือกลัวข้าก็ ได้ แต่ข้าอยากให้เจ้าสมัครรักใคร่ข้าในฐานะปุถุชน คนเสมอกัน มากกว่าอยากให้เจ้าเทิดทูนข้าเสมอด้วยเทพดอกนะ" ไซคิ ยอมจำนนต่อเหตุผลของอีรอส จึงสงบเงียบ ไม่ออดอ้อนเซ้าซี้คู่ครองนางอีก ต่อมาด้วยความคิดถึงวงศาคนาญาติ ทำให้นางไซคิขออนุญาตอีรอสเชิญพี่สาวไปเที่ยว ที่ตำหนัก ใน ครั้งแรกอีรอสอิดเอื้อน แต่ในที่สุดก็อนุญาต

             ฝ่ายพี่สาวทั้งคู่ของนางไซคิได้รับคำเชิญชวนของน้องสาวก็รีบมาด้วยความอยากรู้ว่า น้องสาวของตนจะอยู่กับ อมนุษย์อย่างไร ครั้นมาถึงยอดเขาที่นางไซคิมาเป็นครั้งแรก ลมเสฟไฟรัสก็พัดโบกโอบอุ้มสองนางนั้นให้เลื่อนลอย ลงมายังตำหนักของไซคิ เป็นที่พิศวงแก่นางทั้งสองยิ่งนัก และเมื่อน้องสาวพาเข้าไปในตำหนัก นางทั้งสองกลับเพิ่ม ความพิศวงขึ้นอีกในการที่ได้เห็นควมงามอันวิจิตรภายในตำหนัก ได้ประจักษ์ว่า ข้าทาสบริวารของน้องสาวในสถานที่ นั้นมีแต่เสียงไม่เห็นตัว ซ้ำคู่ครองของนางก็ไม่เคยแสดง โฉมหน้า หรือเผยชื่อให้ปรากฏ สองนางพี่น้องจึงเสี้ยมสอน ยุยงไซคิถึงวิธีลักลอบดูตัวคู่ครองนาง หากว่าเป็นอมนุษย์ทรลักษณ์จริงจะได้ฆ่าเสีย 

             ไซคิปฏิบัติตามคำเสี้ยมสอนยุยงอย่างเสียมิได้ นางจัดแจงหาตะเกียงและมีดดาบซ่อนไว้ไม่ให้อีรอสเห็น เมื่ออีรอสนิทราหลับสนิท นางจึงลุกขึ้นจุดตะเกียงส่องดูสามี ไซคิก็รู้สำนึกว่าตนทำผิดโดยล่วงละเมิดคำสั่งห้ามของภัสดา ไปเสียแล้ว

             ภาพที่ปรากฏแก่สายตาของนาง หาใช่อมนุษย์ไม่ แต่เป็นองค์เทพที่สง่างามละไมตาหาที่เปรียบมิได้ ณ เบื้อง ปฤษฎางค์ของอังสานั้นมีปีกติดอยู่ทั้งสองข้าง นางก็รู้ในบัดนั้นแล้วว่า อีรอสคือสามีของนาง ในขณะที่นางถือตะเกียงเขยิบ เข้าไปพิศดูใกล้ ๆ อย่างเพลินตานั้น น้ำมันตะเกียงซึ่งยังร้อนหยดลงบนผิวของอีรอส อีรอสสะดุ้งตื่นจากนิทราทันที พอ เห็นเหตุดังนั้นเธอก็กางปีกออกโผผละจากที่นั้นไปทางช่องแกล ไซคิพยายามโผติดตาม แต่กลับตกลงกับพื้น อีรอสโกรธ นางไซคิถึงกับออกโอษฐ์ว่า "ดูก่อน ไซคิผู้โฉดเขลา เจ้าตอบแทนความรักของข้าโดยฉะนี้ดอกหรือ ไปเถิดไปหาพี่ สาวของเจ้าผู้เสี้ยมสอนดีเถิด ข้าจะลงโทษเจ้าโดยจากเจ้าตลอดกาลแต่บัดนี้ ด้วยความรักย่อมดำรงอยู่ไม่ได้ถ้า ปราศจากความไว้วางใจ" แล้วอีรอสก็เหินหายลับไปในอากาศ ฝ่ายไซคิคืนสติเหลียวมองดูรอบข้าง ได้รู้ว่าทั้งตำหนัก และอุทยานได้อันตรธานหายไป คงเหลือแต่นางอยู่แต่เดียวดายโดยลำพัง ให้บังเกิดความว้าเหว่ระทมทุกข์ยิ่งนัก

             ไซคิออกจากที่นั่น ไปหาพี่สาว และเล่าเหตุที่เกิดทั้งหมดให้พี่สาวฟัง สองนางแสร้งทำเป็นพลอยเศร้าสลด แต่ใจจริงลิงโลดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นางคบคิดกันจะไปยังที่นั้นอีก หากว่าอีรอสจะเลือกนางคนใดคนหนึ่งในสองพี่ น้องแทนนางไซคิ นางแต่ละคนต่างก็ขึ้นไปบนยอดเขาเรียกให้ลมเสฟไฟรัสมารับตัวลงไป แต่ลมไม่ได้รับคำสั่งจาก อีรอสจึงไม่มารับดั่งในครั้งก่อน พอนางแต่ละคนโผออกจากยอดเขาด้วยสำคัญผิดว่าลมเสฟไฟรัสมารับ นางก็กลับตกเขา ตาย

             ในระหว่างนั้น ไซคิซัดเซพเนจรเที่ยวค้นหาสามีไปตามที่ต่าง ๆ พบใครก็สืบถามดะไปหมด เช่น นางได้พบแพน เทพบุตรขาแพะ แต่เทพก็ช่วยอะไรไม่ได้ นอกจาก ฟังเรื่องและปลอบใจนางเท่านั้น วันหนึ่งนางมาถึงศาลเจ้าแม่ดีมิเตอร์ เทวีครองการเก็บเกี่ยว เห็นเคียว ข้าวโพด และเครื่องมืออื่น ๆ กองสุมกันอยู่ระเกะระกะไม่เป็น ระเบียบ นางจึงจัดข้าวของเสียใหม่ให้เป็นหมวดหมู่ ดูเรียบร้อย เจ้าแม่ดีมีเตอร์ก็โปรด ให้บังเกิดความสมเพชสงสารนางไซคิในความอาภัพอัปภาคย์ของนางเป็นอย่างยิ่ง เจ้าแม่จึงแนะนำให้นางไปที่ศาลเจ้าแม่อโฟร์ไดท์ และให้บวงสรวงวอนขอความกรุณาต่อเจ้าแม่ดูสักครั้งหนึ่ง

             แต่เจ้ากรรม เทวีแห่งความงามยังไม่หายคุมแค้นนางไซคิ เจ้าแม่บริภาษเปรียบเปรยว่าว่านางเป็นประการต่าง ๆ ให้นางระกำใจ มิหนำซ้ำยังใช้ให้นางทำการอย่าง หนึ่งซึ่งเป็นงานเหนือวิสัยมนุษย์ปุถุชนจะทำได้ คือ ให้จำแนกเมล็ดพืชนานาชนิดที่ระคนปนกันอยู่ในฉางออกจากกันเป็นพวก ๆ ให้เสร็จก่อนค่ำ เพื่อเก็บไว้ให้นกพิราบของ เจ้าแม่กิน ถ้านางทำได้สำเร็จ เจ้าแม่ก็จะยอมยกโทษให้

             นางไซคิมองดูธัญชาติในฉางด้วยความท้อถอย ทอดอาลัยสุดที่จะคิดอ่านประการใด ในขณะนั้นเอง มดฝูงหนึ่งก็มาช่วยกันขนเมล็ดข้าวนานาชนิดไปกองไว้เป็นพวกๆ มดฝูงนั้นมาตามคำบัญชาของอีรอสเพื่อช่วยงานของนางไซคิให้สำเร็จด้วยความสงสาร จนเสร็จภายในเวลาที่กำหนดแล้วก็หายตัวไป พอเวลาพลบ เจ้าแม่ลงมาจากเขา โอลิมปัส ได้เห็นงานสำเร็จเรียบร้อยดังนั้น แทนที่จะโปรด กลับระบุว่านางคงไม่ได้ทำงานสำเร็จด้วยตนเอง และว่าผู้ที่ช่วยนาวในครั้งนี้มิใช่ใครอื่น นอกจากอีรอสเป็นแน่ เจ้าแม่ยังไม่ยอมยกโทษให้ หากกลับใช้นางทำการอีกอย่างหนึ่งต่อไป


             ในคราวนี้เจ้าแม่อโฟร์ไดท์ใช้นางไซคิให้ข้ามแม่น้ำสายหนึ่งไปถอนขนแกะซึ่งไม่มีผู้ใดเลี้ยง ณ ฟากตรงข้ามของแม่น้ำเอามาถวายเจ้าแม่ แกะฝูงนั้นล้วนมีขน เป็นทองคำ และเจ้าแม่ก็พึงประสงค์ขนแกะทองคำมากที่สุด ให้นางไซคิถอนขนแกะทุกตัวตัวละขนเอามาถวายให้จงได้ ไซคิไปถึงริมฝั่งแม่น้ำแต่เช้า แต่ต้นอ้อริมฝั่งแม่น้ำ หน่วงนางเอาไว้ ทั้งนี้ด้วยเทพประจำแม่น้ำสงสารนางว่าจะไปตายเสียเปล่า จึงสั่งความลับไว้ให้ต้นอ้อบอกแก่นางเกี่ยวกับวิธีที่ปลอดภัยในการไปเอาขนแกะทองคำ ความลับ นั้นมีว่า ตั้งแต่เวลาเช้าถึงเที่ยงแม่น้ำมีอันตรายมาก และแกะฝูงนั้นก็ดุร้าย ถึงนางจะข้ามแม่น้ำไปถึงฝั่งตรงข้ามได้สำเร็จก็น่ากลัวจะไม่วายถูกฝูงแกะทำลายชีวิตเสีย ต่อเวลา เที่ยงล่วงแล้วฝูงแกะจึงกลับเชื่อง และแม่น้ำก็สงบนิ่ง ให้นางรออยู่จนถึงเวลานั้นจึงค่อยข้ามแม่น้ำไป นางจะพบขนแกะทองคำติดตามพุ่มไม้ ให้นางเที่ยวเก็บเอาตามพุ่มไม้ เหล่านั้นเถิด

             นางไซคิปฏิบัติตามคำแนะนำของต้นอ้อทุกประการ ในไม่ช้าก็หอบขนแกะทองคำเอามาถวายเจ้าแม่อโฟร์ไดท์เป็นอันมาก เจ้าแม่ไม่สมหวังในการประทุษร้ายนาง ไซคิในครั้งนี้ จึงแกล้งใช้นางให้ทำธุระอีกอย่างหนึ่งเป็นครั้งที่สาม 

              โดยงานชิ้นที่สามที่เทวีอโฟร์ไดท์ได้สั่งให้นางไซคิทำก็คือ การนำโถใบหนึ่งลงไปในยมโลก ไปเฝ้าเพอร์เซโฟนีเทวี ทูล ขอเครื่องประกอบความงามของเจ้าแม่ ให้เจ้าแม่บรรจุลงในโถใบนี้ แล้วนำกลับมาให้แก่ตน ให้รีบไปและรีบกลับโดยเร็วก่อนค่ำ วันนี้

             ไซคิเมื่อได้ยินคำสั่งดังนี้ ให้นึกแน่ว่าครั้งนี้นางคงถึงแก่อับจนไม่พ้นมือมัจจุราชเป็นเที่ยงแท้ แต่นางก็คิดว่าดีเหมือนกัน เรื่องราวทั้งหลายจะได้ยุติลงเสียที และเพื่อตัดบทในการที่จะดั้นด้นลงสู่ยมโลกที่มนุษย์ปุถุชนไม่สามารถที่จะทำได้ นางจึงขึ้นไป บนยอดหอสูงหมายจะโดดลงมาให้ตาย เพื่อมิให้ร่างกายต้องทรมาน และในบัดดล พลันได้ยินเสียงหนึ่งในหอลอยมากระทบหูของ นาง เป็นคำปลอบและบอกทางให้นางลงสู่ยมโลกโดยลัดเลาะไปตามถ้ำ ลงเรือจ้างของเครอนข้ามแม่น้ำคั่นตรุที่ประทับของเทพ ฮาเดส และบอกวิธีหลีกเลี่ยงเซอร์บิรัส สุนัขสามหัวให้ด้วย แต่กำชับว่าในระหว่างที่ยังอยู่ในยมโลก นางจะกินผลไม้ใด ๆ มิได้ เว้นแต่อาหารที่ทำด้วยแป้ง และเมื่อเพอร์เซโฟนีเทวีมอบโถให้แล้วห้ามมิให้นางเปิดโถนั้นดูเป็นอันขาด นางไซคิปฏิบัติตามคำ แนะนำของเสียงนั้นอย่างเคร่งครัดทุกประการ เว้นแต่ประการสุดท้ายประการเดียว

             ในขณะที่ไซคินำโถกลับมาตามทางนั้น นางคิดว่าความงามอันใดบรรจุอยู่ในโถ ถ้านางเปิดโถออกให้ความงามนั้นพลุ่ง ขึ้นเสริมความงามของนางเองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นคงเป็นการดีไม่น้อย นางลุอำนาจแก่ความอยากรู้อยากเห็นเช่นนั้น จนลืมคำกำชับ ห้ามปราม พอเปิดโถออกนางก็ล้มสลบแน่นิ่งไป ด้วยสิ่งที่บรรจุอยู่ในโถมิใช่ความงาม แต่เป็นความหลับในยมโลก  

             ฝ่ายอีรอสซึ่งยังอยู่ในอำนาจพิษศรกามของเธอเอง ในขณะนั้หายโหรธแล้ว ให้ระลึกถึง นางไซคิเป็นที่สุด เธอรู้ว่าไซคิประสบเคราะห์กรรมเป็นไฉนจึงบินออกจากทิพมนเทียรลงสู่บาดาล เก็บความหลับกลับคืนในโถแล้วเอาปลายศรสะกิดเบา ๆ นางก็ฟื้นตื่นจากวิสัญญีภาพ เธอตัดพ้อชี้ ให้เห็นโทษของความสอดรู้สอดเห็นอันบังเกิดแก่นางถึงสองครั้งแล้ว ให้นางปฏิบัติภาระที่ได้รับ มอบจากเจ้าแม่อโฟร์ไดท์ต่อไปให้เสร็จ ส่วนตัวอีรอสเองจะขึ้นไปบนสวรรค์ทูลขอต่อ ซูสให้โปรด เกลี้ยกล่อมเจ้าแม่แห่งความงามงดโทษโกรธขึ้งนางไซคิเสีย ซึ่งซูสเทพบดีก็โปรดให้ตามที่ขอ เมื่อ เจ้าแม่อโฟร์ไดท์ยอมงดโทษแก่นางไซคิแล้ว ซูสจึงประทานน้ำอมฤตให้นางไซคิดื่ม ซึ่งจะทำให้ เป็นอมตะอยู่ครองคู่กับอีรอสโดยไม่พลัดพรากจากกันอีกเลยนับแต่บัดนั้นมา 



เทพฮาเดส เทพเจ้าแห่งยมโลก


ตำนานกรีกโบราณเทพที่เทพผู้เป็นใหญ่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า โปเซดอน อีกองค์หนึ่งก็คือ ฮาเดส (หรือชาวโรมัน เรียกว่า พลูโต)

             แดนบาดาลหรือยมโลกและคนตายต่างก็อยู่ในความปกครองของเทพองค์นี้ทั้งหมด คำว่า"พลูโต"นี้มีความหมายว่า เทพแห่งทรัพย์ เพราะถือกันว่า นอกจากยมโลกแลัว ท้าวเธอฮาเดสยังครองมวลธาตุล้ำค่าใต้พื้นพิภพอีกด้วย บางทีจึงมีชือว่า ดีส (Dis) แปล ตรงตัวว่า ทรัพย์ (บางแห่งกล่าวว่า ฮาเดสครองยมโลกและคนตายเท่านั้น ส่วนเทพผู้ครองความตายนั้นมี อีกองค์หนึ่ง เรียกว่า ธานาทอส (Thanatos)ในภาษากรีก หรือ ออร์คัส (Orcus) ในภาษาลาตินเป็นคู่กันกับ ฮิปนอส (Hipnos- เทพประจำ ความหลับ) แม้ว่าเทพฮาเดสอยู่ในเหล่าเทพแห่งเขาโอลิมปัส แต่เธอก็ไม่ค่อยจะได้ออกจากยมโลก ขึ้นไปยังเขาโอลิมปัสเท่าไหร่นัก เธอ เองก็ไม่ใช่แขกที่ใครๆยินดีต้อนรับ เพราะแม้แต่เทพเจ้าด้วยกันเองยังกลัว เนื่องจาก เธอปราศจากความเวทนาสงสาร แต่กอปรด้วย ความยุติธรรม เธอมีหมวกวิเศษใบหนึ่งที่สามารถทำให้ผู้สวมหายตัวได้ 

              ภายในยมโลกนั้น ชาวกรีกในสมัยโบราณเชื่อว่า ดวงวิญญาณของคนทุกคุณ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วจะถูกพาไป รับคำพิพากษาของคณะเทพสภาในยมโลก ซึ่งอยู่ในชั้นบาดาลใต้พื้นพิภพ เป็นอาณาจักรอยู่ในความปกครอง ของเทพฮาเดส การพาดวงวิญญาณคนตายลงไปยังบาดาลเป็นหน้าที่ของเฮอร์เมส เทพพนักงานสื่อสาร ของซูส ซึ่งตำแหน่งของยมโลกนี้ บ้างก็ว่าอยู่ใต้สถานที่เร้นลับของโลก บ้างก็ว่าทางลงอยู่ที่ขอบพิภพโดยข้าม มหาสมุทรไป ส่วนกวีในขั้นหลังๆจึงบอกว่าทางลงมีหลายทางนั้นเอง ซึ่งทางลงนั้นนำไปถึงแม่น้ำแห่งความ วิปโยค ชื่อว่า แอกเครอน (Acheron) แม่น้ำนี้ไหลไปสู่แม่น้ำอีกสายหนึ่งเรียกว่าแม่น้ำแห่งความ กำสรวลชื่อ โคไซทัส (Cocytus) ตรงที่แม่น้ำทั้งสองสายนี้บรรจบกัน มีคนเรือจ้างแก่ ๆ คนหนึ่งชื่อว่า เครอน (Charon) คอยรับ วิญญาณข้ามฟากไปสู่ยังประตูแข็งแกร่งดังเหล็กเพชร ซึ่งเป็นทางเข้าตรุลึกลง ไปเรียกว่า ทาร์ทารัส (Tartarus) ส่วนเขตชั้นนอกที่ผ่านมาแล้วเรียกว่า เอรีบัส (Erebus) เครอน จะรับลงเรือแต่เฉพาะดวงวิญญาณที่มีเงิน เบิกทางติดปากไปและได้ผ่านพิธีฝังเรียบร้อยแล้วเท่านั้น อันนี้เห็นจะเป็นเหตุของชาวกรีกสำหรับประเพณีเอา เงินใส่ปากคนตาย ฝัง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำตามๆกันอยู่หลายชาติ 

             ส่วนเขตชั้นนอกที่ผ่านมาแล้วเรียกว่า เอรีบัส (Erebus) เครอน จะรับลงเรือแต่เฉพาะดวงวิญญาณที่มีเงินเบิกทาง ติดปากไปและได้ผ่านพิธีฝังเรียบร้อยแล้วเท่านั้น อันนี้เห็นจะเป็นเหตุของชาวกรีกสำหรับประเพณีเอา เงินใส่ปากคนตายฝัง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำตามๆกันอยู่หลายชาติ

             ที่หน้าประตูทางเข้าตรุทาร์ทะรัส มีสุนัขเฝ้าตัวหนึ่งเรียกว่า เซอร์บิรัส (Cerberus) มีหัวสามหัว หางเป็นหางมังกร มันจะยอมให้วิญญาณของคนทุกคนเข้าประตู แต่จะไม่ยอมให้กลับออกมาเป็นอันขาด เมื่อไปถึงประตูนี้ วิญญาณแต่ละดวงจะถูก พาไปรับคำพิพากษาของสามเทพสุภา คือ แรดาแมนธัส ,ไมนอส และ ออร์คัส วิญญาณที่ชั่วร้ายจะถูกพิพากษาให้ต้องทน ทุกข์ทรมานอยู่ในตรุทาร์ทะรัสไปชั่วกัลป์ ส่วนวิญญาณที่ดีจะได้รับคำพิพากษาให้พาไปอยู่ยังทุ่งอีลิเซียน แดนสุขาวดีของกรีกที่ เคยกล่าวถึงมาแล้ว 

              นอกจากแม่น้ำแอกเครอนกับโคไซทัสที่เอ่ยถึง ยังมีแม่น้ำอื่นอีกสามสายคั่นบาดาลไว้ต่างหากจาก พิภพเบื้องบน สายหนึ่งมีชื่อว่า เฟลจีธอน (Phlegethon) เป็นแม่น้ำไฟ สายที่สองชื่อ สติกส์ ( Styx ) เป็นแม่น้ำสาบานของเทพทั้งปวง สายที่สามชื่อ ลีธี (Lethe) แม่น้ำแห่งความลืม หรือแม่น้ำล้างความทรง จำ สำหรับให้ดวงวิญญาณ ในตรุทาร์ทะรัสดื่มเพื่อล้างความจำในชาติก่อนให้หมด 

             อนึ่ง นอกจากคณะเทพสุภาแห่งยมโลก ยังมีคณะเทวีทัณฑกรอีกคณะหนึ่งประจำอยู่ในยมโลกเช่น กัน เรียกว่า อิรินนีอิส (Erinyes) ทำหน้าที่ลงทัณฑ์แก่ดวง วิญญาณของผู้ประพฤติผิดทำนองคลองธรรมใน มนุษย์โลก ในชั้นเดิมเทวีทัณฑกรคณะนี้มีหลายองค์แต่ในที่สุดมีเหลือที่กล่าวนามเพียงสาม คือ ไทสิโฟนี (Tisiphone)  มีกีรา (Megaera)และ อเล็กโต (Alecto) แต่ละองค์มีรูปลักษณะดุร้ายน่ากลัว มีงูพัน เศียรยั้วเยี้ย ใครๆที่ทำบาปกรรมไว้ในโลกมนุษย์ จะหนีทัณฑกรรมที่เทวีทั้งสามพึง ลงเอาไม่พ้นไปได้เลย คำ อังกฤษเรียกเทวีทั้งสามนี้โดยรวมๆกันไปว่า The Furies

             เนื่องด้วยอุปนิสัยของเทพฮาเดส จ้าวแดนบาดาล ออกจะเย็นชาแข็งกร้าว ปราศจากความเวทนาสงสารให้แก่ผู้ใด แต่เต็มไปด้วยความยุติธรรมทุกขณะ เช่นนี้ จึง เป็นเหตุให้ ท้าวเธอยากจะหาสตรีมาเป็นชายาครองบัลลังก์ปรโลกคู่กันได้เลย ดังนั้น เมื่อท้าวเธอเสด็จขึ้นมาบนพื้นพิภพในวันหนึ่ง และประสบพบพานโฉมงามนาม เพอร์เซโฟนี (Persephone) ธิดาองค์เดียวของเจ้าแม่โพสพเทวี ดีมีเตอร์ เข้าให้ ฮาเดสลืมเลือนไปหมดสิ้นว่า อนงค์นางนี้ที่แท้จริงคือหลานในไส้ของตน เพราะว่า ดีมิเตอร์เทวีเป็นน้องนางของพระองค์นั่นเอง จ้าวแห่งแดนบาดาลจึงไม่รอช้า ฉุดคร่าเอาตัวเพอร์เซโฟนีลงไปสู่ดินแดนใต้พิภพ เพื่อครองคู่เป็นราชินีปรโลกด้วยความมิเต็ม ใจของนาง

             ครั้นเมื่อซูสเทพบดีทรงตัดสินความให้เทพฮาเดสส่งเพอร์เซโฟนีคืนแก่พระมารดา ฮาเดสก็ใช้เล่ห์ เพทุบายลวงให้นางต้องมาหาท้าวเธอปึละ 3 เดือนทุกปีไป ดังนั้นในปึหนึ่ง ๆ ฮาเดสจึงเป็นเทพพ่อม่ายอยู่ถึง 9 เดือน มี เวลาได้ร่วมเขนยกับมิ่งมเหสีเพียงปีละ 3 เดือน เท่านั้น

             แต่ทั้งที่ต้องประทับอยู่อย่างเดียวดายนานถึงปึละ 9 เดือน เทพฮาเดสก็พิสูจน์องค์เองว่าเป็นสวามีที่ซื่อสัตย์พอสมควร ตลอดเรื่องราวประวัติของท้าวเธอ ปรากฏว่าฮาเดสมีเรื่องนอกใจชายาเพียง 2 ครั้งเท่านั้น

             ครั้งหนึ่งได้แก่ ทรงหลงเสน่ห์ความน่ารักของนางอัปสรนามว่า มินธี (Minthe) แต่ทว่าความรักนี้มิยั่งยืน ด้วยเหตุที่พระแม่ยายดีมิเตอร์เทวีทรงร้ายเหลือ ทั้ง ๆ ที่ไม่ชอบหน้าฮาเดสเท่าใดนัก แต่เมื่อท้าวเธอทำท่าจะนอกใจ ธิดาของตนเข้าให้ เจ้าแม่ก็พิโรธโกรธเกรี้ยวจนกระทั่งไล่กระทืบมินธีนางอัปสรผู้น่าสงสารตายคาบาทของเจ้าแม่ จ้าว แดนบาดาลเวทนาสงสารนางอัปสรน้อยนั้น จึงเปลึ่ยนร่างของนางให้กลายเป็นพืชชนิดหนึ่งมีกลิ่นหอม และได้กลายเป็น พืชประจำพระองค์ตลอดมา

             ส่วนการนอกใจครั้งที่สองนั้นได้แก่ ทรงรักชอบพอกับนาง เลอซี (Leuce) ธิดาของอุทกเทพโอซียานุส แต่นางเลอซีมีบุญน้อย เพราะป่วยตายเสียก่อนที่จะตายด้วยมือของเจ้าแม่ดีมิเตอร์หรือเพอร์เซโฟนีเทวี หลังจากที่นาง ตายไปแล้วก็กลายร่างเป็นต้นพ็อปลาร์ขาว ซึ่งกลายเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ในการทำพิธีการลึกลับ ณ เมืองอีเลอซีส แต่ไม้ใหญ่ อันเป็นพฤกษชาติประจำองค์ของเทพฮาเดสนั้นกลับเป็นต้นสนเศร้า (Cypress) ส่วนดอกไม้ที่กำเนิดจากมินธีแล้ว ยังได้แก่ดอกขาวบริสุทธิ์ของนาร์ซิสซัส

             ผู้คนในสมัยโบราณจะถวายสักการะแด่เทพฮาเดสด้วยแกะดำ ทำให้กลายเป็นพิธีกรรมที่เร้นลับสืบมาที่จะบูชา ยัญแด่เทพแห่งมรณะหรือเทพแห่งความชั่วร้ายอื่น ๆ ด้วยแพะหรือแกะสีดำเช่นเดียวกัน 


ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก :  google



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น